จาก นโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศสู่ไทย 4.0 โดยในส่วน ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะที่กำกับดูแล สอศ. ได้มอบหมายให้มีการดำเนินการขับเคลื่อนนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม โดยให้นำนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษาออกมาสู่โลกธุรกิจ เพื่อกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยการสร้างองค์ความรู้ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เชื่อมโยงให้เข้ากันอย่างเป็นระบบ พร้อมสนับสนุนงบประมาณ การดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนา เพื่อประดิษฐ์คิดค้น พัฒนาต่อยอด จดอนุสิทธิบัตร และสิทธิบัตร เผยแพร่สู่สาธารณะ และชุมชน เพื่อการนำไปใช้เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม
รมช. ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการขับเคลื่อน ดังกล่าว เป็นการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพการต่อยอดนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษาสู่เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ซึ่ง ขณะนี้ สอศ.ได้เริ่มดำเนินการขับเคลื่อนนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา ในพื้นที่ 2 ภูมิภาค ไปแล้วคือ ภาคตะวันออกและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นผลการดำเนินงาน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสอศ.กับศึกษาธิการภาค ได้ดำเนินการในรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการ ผลงานสิ่งประดิษฐ์จากสถานศึกษา ที่ผ่านการคัดเลือก นำมาพัฒนาต่อยอดเข้าสู่อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าชม ศึกษารายละเอียดและพิจารณาคุณสมบัติ สิ่งประดิษฐ์และค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมโดยผ่านช่องทางคิวอาร์โค้ดได้อีกช่องทางหนึ่ง
     ทั้งนี้ สำหรับการขับเคลื่อนนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษาครั้งนี้เป็นของภาคกลาง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 15 มิถุนายน 2561 ณ ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี ตำบลบางพูนอำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ภายในงานประกอบด้วย การเสวนาทางวิชาการเพื่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมประเทศไทย 4.0 ในหัวข้อ แนวทางการส่งเสริม นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษาสู่ไทยแลนด์ 4.0 และ การจัดประเภท กลุ่มของนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (11 ประเภท) การจัดนิทรรศการแสดงผลงาน สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมอาชีวศึกษา จำนวนกว่า 220 ผลงาน จาก 75 สถานศึกษา ซึ่งเป็นการเจรจาขับเคลื่อนนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา เพื่อเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เป็นการแสดงความจำนง ความร่วมมือของการจับคู่ระหว่างสถานประกอบการ และนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ของสถานศึกษา 4 รูปแบบ คือ เจรจาแล้วซื้อ ให้คำแนะนำแล้วซื้อ ให้โจทย์แล้วซื้อ และให้คำปรึกษาต่อยอดธุรกิจ ในการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ เพื่อทำเป็นธุรกิจต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีการจับคู่ธุรกิจ จำนวนไม่น้อยกว่า 150 คู่ และมีผู้เข้าร่วมชมงานมากกว่า 3,000 คน
     ด้าน ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การจัดงานขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษาที่จัดขึ้นนี้ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการจัดการอาชีวศึกษาที่เสริมสร้างให้ผู้เรียนมีทักษะในการคิดต่อยอดกระบวนการผลิต เพื่อให้เดินไปพร้อม ๆ กับกลยุทธ์ด้านการตลาด ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับผู้ประกอบการ เกิดการสื่อสารในเชิงธุรกิจ และคาดว่าต่อไปโรงฝึกงานหรือ “ชอป” ในสถานศึกษาจะเป็นชอปที่มีชีวิต มีความเคลื่อนไหว เพราะจะมีการผลิตและพัฒนารูปแบบสิ่งประดิษฐ์อย่างต่อเนื่อง มีการกระจายรายได้และพัฒนาองค์ความรู้ให้สูงขึ้น สำหรับสิ่งประดิษฐ์ที่นำมาแสดงและจำหน่ายในครั้งนี้ หลายชิ้น และโด่งดังมาแล้ว เช่น อุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียน จุกน้ำปลากันเลอะ เครื่องเซาะตาสับปะรด เครื่องสารพัดตามพลังงานแสงอาทิตย์ และยังมีอีกหลายชิ้นที่ตอบโจทย์การทำธุรกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น มีดสางใบอ้อย เครื่องตอนจุกสับปะรด เครื่องตามรีโมท เครื่องคั่วเมล็ดกาแฟ เครื่องปั่นเม็ดเลือดแดง เครื่องระเบิดท่อน้ำอุดตันในครัวเรือน เครื่องพ่นยาสัตว์ เครื่องเตือนไฟไหม้ เป็นต้น

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments