เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เปิดเผยว่า จากการที่คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ลงพื้นที่  เพื่อระดมความคิดเห็นเรื่อง  “การบูรณาการความร่วมมือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา : กรณีศึกษาจังหวัดน่าน” ระหว่างวันที่ 31 ส.ค.-2 ก.ย. สิ่งที่ได้จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ คือ ทำให้เข้าใจข้อจำกัดของสถานศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง สภาพแวดล้อม การเดินทาง รวมถึงวิธีการทำงาน การบริหารจัดการ  ซึ่งอาจจะไม่เป็นธรรมกับโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล เช่น ค่าใช้จ่ายรายหัวที่ให้เท่ากันทั้งที่ต้นทุนพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่สูงจะสูงกว่าพื้นราบ แต่อย่างไรก็ตามในการเป็นชนบทห่างไกล และจำนวนนักเรียนที่ไม่มากก็ทำให้เห็นจุดแข็งอยู่บ้าง เช่น ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีการดูแลช่วยเหลือเกื้อกูล และมีหน่วยงานภายนอกรวมถึงภาคเอกชนเข้าไปสนับสนุนการจัดการศึกษา อีกทั้งครูสามารถดูแลนักเรียนได้อย่างใกล้ชิด

“การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯจะนำเสนอข้อมูล และข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาเพื่อลดความเหลื่อมต่ำสภาการศึกษาชุดใหญ่ รวมถึงเวทีอื่น ๆ ด้วย เพราะเชื่อว่าอนาคตจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย และการให้การสนับสนุนที่ให้ก็ต้องไม่เหมือนกันทั้งประเทศ ไม่ใช่เป็นการตัดเสื้อโหล อีกทั้งเวลานี้ก็มีองค์กรที่เป็นพันธมิตรที่ดี เช่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. , ท้องถิ่น ที่สามารถช่วยเหลือและลดความเหลื่อมล้ำได้”ศ.ดร.ดิเรกกล่าว

ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า จังหวัดน่านเป็นจังหวัดพื้นที่สูง มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่ก็มีข้อจำกัด คือ โรงเรียนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กทำให้การจัดการศึกษาไม่สามารถทำได้หลากหลายและมากเท่าโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่จากการลงพื้นที่ได้ทำให้เห็นศักยภาพของโรงเรียนซึ่งเป็นโอกาสอีกด้านของเด็ก ๆ เนื่องจากโรงเรียนขนาดเล็กครูจะรับผิดชอบนักเรียนจำนวนไม่มาก ทำให้ครูสามารถเข้าถึงนักเรียน และสามารถออกแบบการเรียนการสอนให้นักเรียนเป็นรายบุคคลได้ ซึ่งเป็นโอกาสที่สำคัญที่ครูจะดูแลวิเคราะห์เด็กได้ดี สิ่งสำคัญคือทำให้เห็นความร่วมมือจากภาคเอกชน หน่วยงาน ภาคธุรกิจ รวมถึง กสศ.ที่ให้การสนับสนุนการจัดการศึกษาสำหรับเด็กเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

“สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะนำข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ได้จากการลงพื้นที่ ไปวิเคราะห์เพื่อให้เห็นภาพความชัดเจนในเรื่องความเหลื่อมล้ำว่ามีประเด็นใดบ้าง ที่เป็นประเด็นสำคัญ และจัดทำพื้นที่ตัวอย่างในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อนำเสนอสภาการศึกษาต่อไป”รองเลขาธิการสภาการศึกษากล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments