“วาฬกินถุงพลาสติก ปูเสฉวนเปลี่ยนบ้านหลังใหม่จากเปลือกหอย เป็นกระป๋อง ขวดแก้ว ขวดพลาสติก ….ไม่เพียงแต่ในท้องทะเลที่มีขยะสารพัดสิ่ง มองขึ้นไปบนท้องฟ้า บางครั้งก็แทบก็แยกไม่ออกว่านั่นคือหมอกหรือควัน ….และล่าสุดก็มีปัญหาการนำเข้าขยะพิษอิเล็กทรอนิกส์อีก เหล่านี้เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและนับวันจะทวีความเลวร้ายมากขึ้น หากไม่มีการปลูกฝังเรื่องการดูแลจัดการขยะอย่างถูกวิธี จนเกิดเป็นจิตสำนึกในการกำจัดขยะให้หมดไปคงเป็นเรื่องยาก

ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการสนับสนุน ส่งเสริม เพื่อปลูกฝังนักเรียนเรื่องการจัดการขยะ ซึ่งจากการลงพื้นที่ทำให้ได้เห็นสิ่งที่น่าชื่นชมในการจัดการขยะ คือ ทุกโรงเรียนมีกระบวนการจัดการ แต่วิธีการแตกต่างกันในรายละเอียด บางโรงเรียนสามารถนำขยะไปจัดการเพื่อให้เกิดรายได้ได้ และยังสามารถทำให้เกิดเป็นจิตสำนึกในใจนักเรียนได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและในไม่ช้านี้ สพฐ.จะมีการรวบรวมรูปแบบวิธีการต่าง ๆ มาเป็นต้นแบบเพื่อเผยแพร่ไปในโรงเรียนอื่นๆ เพื่อให้เกิดการขยายผลและต่อยอดต่อไป

เมื่อเร็ว ๆ นี้ (22-25มิ..) สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) สมุทรปราการ เขต 1 จัด Green School Camp :ห้องเรียนสีเขียวรักพลังงาน รุ่นที่ 3 เพื่อสร้างแกนนำที่มีความรู้ความชำนาญด้านพลังงาน การจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษา 120 คน จาก 23 โรงเรียนในเขตภาคกลางและปริมณฑล เข้าร่วม ที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา

นายจิรศักดิ์ มัณทางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการด้านการใช้ไฟฟ้า กฟผ. ประธานเปิดค่ายห้องเรียนสีเขียวรักพลังงาน กล่าวว่า “กว่า 10 ปีที่ กฟผ.ต้องการเสริมสร้างทัศนคติและมีอุปนิสัยรักพลังงาน โดยดำเนินโครงการห้องเรียนสีเขียว ซึ่งมีนักเรียนกว่า 3 ล้านคนเข้าร่วมโครงการ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการวัดผลที่เป็นรูปธรรม ว่า นักเรียนได้รับความรู้ไปแล้ว มีทัศนคติและอุปนิสัยรักพลังงานและสามารถลดการใช้พลังงานไปได้เท่าไร ฉะนั้น ในช่วง 4 ปีหลังมานี้ จึงได้กำหนดให้มีการวัดผลสัมฤทธิ์ให้ได้ว่าทุก 1 หน่วยที่ลดพลังงานได้ สามารถประหยัดเงินไปได้กี่บาททั้งในโรงเรียน ครัวเรือน และใน 1 หน่วยที่ลดได้ก็จะช่วยลดภาวะโลกร้อนให้โลกได้ด้วย ดังนั้น โครงการค่าย Green School Camp จึงมุ่งสร้างแกนนำทั้งครูและนักเรียน โดยหวังผลให้เกิดขึ้นทั้งในตัวนักเรียน โรงเรียน พร้อมทั้งเกิดการขยายผลไปสู่ครอบครัวและชุมชนด้วย”

เรามาฟังเสียงสะท้อน จากแกนนำห้องเรียนสีเขียวรักพลังงานระดับมัธยมศึกษากันบ้าง

น้องพีช “พีรเดช บุญประเสริฐ”.4/6 โรงเรียนเทพศิรินทร์ร่มเกล้า กล่าวและว่า การมาค่ายในครั้งนี้ได้ความรู้เยอะมากจากที่ก่อนหน้านี้รู้แค่ 3R คือ Reduce Reuse Recycle ไม่เคยรู้ว่าที่จริงแล้วมีถึง 7 R โดยอีก 4R คือ Repair Reject Return Rethink ในฐานะที่ผมต้องเป็นแกนนำ เรื่องสำคัญและอยากทำเร่งด่วน คือ การลดปริมาณการใช้เครื่องปรับอากาศ เพื่อปลูกจิตสำนึกของเพื่อน รุ่นน้อง รุ่นพี่ในโรงเรียน อีกทั้งช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศด้วย รวมถึงช่วยลดค่าไฟของโรงเรียนที่ต้องจ่ายถึงเดือนละประมาณ 7-9 ล้านบาทได้ และหากลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ลงได้จะทำให้โรงเรียนมีเงินไปพัฒนาการจัดการศึกษาเรื่องอื่นได้ อย่างอุปกรณ์กีฬา

ขณะที่ น้องฟ้า วริยา จันทร์เจียว.6/3 โรงเรียนสวนกุหลาบธนบุรี บอกว่า “ขณะนี้เราต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน การร่วมกิจกรรมวันนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้ว่า ถึงเวลาที่ต้องประหยัดไฟฟ้าให้ได้มากที่สุดเสียที โดยอยากนำความรู้ที่ได้จากค่ายครั้งนี้ไปจัดค่ายจัดกิจกรรมให้ทุกคนมารับรู้ปัญหา ผลกระทบด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อมของประเทศบ้าง โดยอาจจะทำในโรงเรียนก่อนแล้วขยายไปยังชุมชน ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ต้องตระหนักในตนเองก่อนเรื่องการมีวินัย อุปนิสัย ความคิดต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในความเป็นจริงทุกคนเรียนรู้ว่าทิ้งขยะลงไปในน้ำไม่ดี ตัดต้นไม้ทำลายธรรมชาติไม่ดี แต่ก็ยังคงทำกันอยู่ ดังนั้นจึงต้องเริ่มจากตนเองในการเป็นต้นแบบที่ดีก่อนไปบอกคนอื่น โดยเฉพาะเยาวชนต้องมีสติในการคิด เมื่อสติมาปัญญาจะเกิด ถ้าสติเตลิดจะเกิดปัญหาอย่างทุกวันนี้

พรพรรษา เชิดฉาย หรือ น้องใบตอง.4/2 โรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม บอกว่า “การเรียนรู้ทั้ง 11 ฐาน ประกอบด้วย1)ฉลาดคิด ฉลาดใช้ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม 2)เส้นทางชีวิตของผลิตภัณฑ์สู่ตะกร้าเขียว 3)Go Green For Life 4)น้ำใช้ น้ำทิ้ง เพื่ออนาคต และ 5)รวมพลังความคิดพิชิต CO2 6)ไฟฟ้ามีประโยชน์มากมาย 7)แหล่งกำเนิดไฟฟ้า 8) .อุปนิสัยประหยัดไฟฟ้าและปลอดภัย 9)Smart Learning Energy 10)การใช้และบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า 11)คิด คิด คิด พิชิต CO2 ซึ่งความรู้ที่ได้จากแต่ละฐาน สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยสิ่งแรกที่อยากทำเลยคือการคัดแยกขยะ ซึ่งเริ่มทำได้ตั้งแต่ในบ้าน และจะเลิกใช้ถุงพลาสติก กระดาษทิชชู แล้วหันมาใช้ถุงผ้า ใช้ผ้าเช็ดหน้าแทน โดยจะทำให้เป็นปกติซึ่งเชื่อว่าทำได้ไม่ยาก”

ด้าน น้องออย ทองแท้ พวงดอกไม้.5/2 โรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา บอกว่า ได้เรียนรู้เรื่องการผลิตกระแสไฟฟ้า การรณรงค์ช่วยลดความร้อน การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ การรู้จักเลือกใช้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การคิดค่าไฟฟ้า จากการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก ในฐานะแกนนำที่ได้เรียนรู้ 3 เรื่องหลัก คือ พลังงาน การจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น ก็จำเป็นต้องทำทั้ง 3 เรื่อง ซึ่งเชื่อว่าไม่ยากที่จะสร้างอุปนิสัยที่ดีในด้านพลังงาน การจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยจะนำวิธีการต่างๆ จากความรู้ที่ได้รับไปสื่อสารให้คนรอบข้าง คนที่บ้าน เพื่อนๆ ในโรงเรียนต่อไป

สุดท้าย น้องเวฟ บริทัศน์ รักไทย.5/2 โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก เล่าว่า เมื่อก่อนผมไม่เคยรู้เลยว่า ผลิตภัณฑ์แต่ละอย่างส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตอย่างไร และมีอะไรมารับรอง จนได้มาเรียนรู้จากค่ายในฐานการเรียนรู้เส้นทางชีวิตของผลิตภัณฑ์สู่ตะกร้าเขียวว่า มีฉลากใดบ้างที่แสดงถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือฐานเรียนรู้เรื่อง อ.อุปนิสัยประหยัดไฟฟ้าและปลอดภัย ที่สอนการคิดค่าคำนวณการใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนวัตต์เท่าไร ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไร ดังนั้น ในฐานะแกนนำเราต้องทำให้คนอื่นๆ ได้รู้เหมือนที่เราได้เรียนรู้ ผมจะสื่อสารแบบพี่น้องคุยกัน โดยเริ่มจากกลุ่มเล็ก ๆ ก่อนขยายไปในกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น และผมจะทำโครงการสวนพฤกษาศาสตร์ในโรงเรียนให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์อีกด้วย ทั้งนี้ การลดใช้พลังงาน การจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เรื่องง่ายๆ ที่คนละเลย ไม่ใส่ใจ ไฟไม่ใช้ก็ปิด ถอดปลั๊ก ผมจะเริ่มที่ตัวผม คนอื่นมาเห็นผมทำก็จะได้ทำตาม เพราะเป็นสิ่งที่ดีและควรทำ ซึ่งตัวผมและคนในบ้านทำเป็นนิสัยอยู่แล้ว

ได้ฟังแนวคิดจากแกนนำต้นแบบแล้ว เชื่อว่าการจะสร้างอุปนิสัย “การลดใช้พลังงาน การจัดการขยะ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” ทำได้ไม่ยาก

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments