เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(องค์การมหาชน)และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร(สอก.)4 ภาค  โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะกำกับดูแลวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมง ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการกาอาชีวศึกษา(สอศ.) พร้อมด้วยนายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(สคช.) ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นประธานการลงนาม

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งในความพยายามของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะยกระดับมาตรฐานบุคลากรด้านการเกษตรให้เป็นเกษตรกรมืออาชะ เพื่อสร้างผู้ประกอบการภาคการเกษตรที่สอดคล้องกับสังคมโลกในศตวรรษที่ 21  โดยเฉพาะการเตรียมผลักดันและพัฒนาอาชีพ “ชลกร”ให้มีมาตรฐานในระดับสากล โดยใช้เกณฑ์การประเมินสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ภายใต้เป้าหมายที่จะช่วยเหลือเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้มีอาชีพ รายได้ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากการอาชีวศึกษาเกษตรและประมงจะทำให้การเรียนการสอนที่ทันสมัย ใช้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดิจิทัลในการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติแล้ว ผู้เรียนยังจะได้การรับรองมาตรฐานคุณวุฒิ จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ที่ได้รับความเชื่อถือระดับนานาชาติ จบออกไปประกอบวิชาชีพอย่างมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เป็นเกษตกรมืออาชีพอย่างแท้จริง

นายนคร กล่าวว่า อาชีพด้านการเกษตร เป็นอาชีพเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้ จะสามารถนำไปสู่การพัฒนากำลังคนด้านการเกษตรได้พร้อมกันทั้ง 4 ภาค ซึ่งสถาบันฯ พร้อมผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาคน ผลิตนวัตกรรมด้านการเกษตรใหม่ ๆ หรือสมาร์ทฟาร์ม สอดรับการปรับเปลี่ยนของโลกอนาคต และยังเป็นการร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายอาชีวะเกษตรสร้างชาติด้วย

ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า สคช. ไม่เพียงให้การการันตียกระดับบุคคลด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ แต่ยังหาช่องทางในการต่อยอดในอาชีพให้กับคน ทั้งการอบรม สอนแนวทางทำการตลาด รวมทั้งส่งเสริมแหล่งเงินทุนด้วยความร่วมมือกับธนาคารออมสิน และ SME D Bank ที่พร้อมพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อมืออาชีพ ช่วยให้เกษตรกรตัวเล็กมีโอกาสเติบโตในธุรกิจเป็นเกษตรกรตัวใหญ่ได้ สำหรับบันทึกข้อตกลงทั้ง 5 ฝ่าย มีหัวใจสำคัญคือการร่วมมือกันยกระดับมาตรฐานอาชีพของบุคลากรผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตรที่เข้ามาศึกษาและฝึกอบรม ผลักดันให้มีการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ รวมไปถึงการผลักดันให้มีการพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น Upskill และ Reskill จากเกษตรกร สู่ผู้ประกอบการเกษตรตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อสร้างโอกาสและขีดความสามารถในการเป็นเกษตรกรให้เป็นมืออาชีพต่อไป

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments