เมื่อวันที่  10 กุมภาพันธ์ 2564 ดร.วรัท  พฤกษาทวีกุล เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) เปิดเผยว่า ตามที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาความสอดคล้องร่างกฎหมายด้านการศึกษา 3 ฉบับ  ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ …..ที่ดำเนินการโดยกระทรวงศึกษาธิการ  และร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณา โดย ครม.มีมติให้ส่งร่างกฎหมายทั้งสามฉบับให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจและเสนอกลับมาที่ ครม.อีกครั้งหนึ่งก่อนเสนอสภาฯต่อไปนั้น

“ร่างกฎหมายทั้งสามฉบับ จะเป็นเครื่องมือ และแนวทางในการยกระดับการศึกษาของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. ….  ซึ่งเกิดจากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต พ.ศ. …. จาก สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. และ กระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ผลักดันเรื่อยมา จนเป็นร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ….. ซึ่ง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และ รมช.ศึกษาธิการ ทั้ง 2 ท่าน คือ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ ได้เห็นความสำคัญของการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับประชาชนทุกช่วงวัยและช่วยผลักดันจนครม.เห็นชอบให้ส่งกฤษฎีกาตรวจสอบ”เลขาธิการ กศน.กล่าวและว่า ทั้งนี้ตนได้ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ… มาโดยตลอด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ มีทักษะทางอาชีพ และทักษะชีวิต สามารถ เพิ่มพูนทักษะ(up -skills) เปลี่ยนทักษะ(re-skill) มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เกิดเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ และยังคงมุ่งเน้นการจัดการศึกษาให้ผู้พลาด ผู้ขาด ผู้ด้อยตามหลักการที่ว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างของสำนักงาน กศน. มีความคล่องตัว สามารถสนองต่อความต้องการการเรียนรู้ของประชาชนและความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคมปัจจุบันได้อย่างทันท่วงที

5 2 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments