รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยภายหลังการประชุมกพฐ.ว่า ที่ประชุมได้หยิบยกการนำเสนอผลงานวิจัยของมูลนิธิเอเชีย (The Asia Foundation) ซึ่งได้ทำการวิจัย เรื่อง “จากความท้าทายสู่คุณภาพการศึกษาของประเทศไทย”ซึ่งผลการวิจัยที่เสนอมายืนยันชัดเจนว่า ปัญหาของผู้บริหาร ผู้อำนวยการโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ยังขาดความเป็นผู้นำทางวิชาการที่ชัดเจน เช่นมีหลักการมีแนวคิดอยู่ แต่ขาดความเข้าใจในเรื่องความเป็นผู้นำทางวิชาการของผูอำนวยการโรงเรียน ซึ่งจากกลุ่มตัวอย่างที่เก็บจากผู้อำนวยการโรงเรียนใน กทม.และภูมิภาคจำนวนหนึ่ง เข้าใจว่าคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(O-NET) และเข้าใจว่าการที่นักเรียนไปประกวดได้รับรางวัลนั้นคือผลงานทางวิชาการของโรงเรียน ซึ่งความจริงแล้วผลงานทางวิชาการไม่ใช่เรื่องของโอเน็ต หรือการได้รางวัลหรือประกาศ แต่เป็นเรื่องของการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน และการพัฒนาสภาพแวดล้อมในโรงเรียน ดังนั้น สพฐ.จะต้องเร่งพัฒนา ให้สอดรับกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ในเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาในอนาคต ซึ่งในการประชุมบอร์ด ก.ค.ศ.ครั้งหน้า เลขาธิการ ก.ค.ศ.ก็คงจะได้นำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุม

รศ.ดร.เอกชัย กล่าวต่อไปว่า  นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงการประเมินโรงเรียนในสังกัดสพฐ.ของ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)องค์การมหาชน ซึ่งสพฐ.และสมศ.จะต้องประชุมหารือกันว่าจะมีการประเมินไปในทิศทางใด

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า สพฐ.รับทราบและเห็นด้วยว่าผู้บริหารยุคใหม่ควรมีสมรรถนะในการบริหารทางวิชาการ ซึ่ง สพฐ.จะต้องออกแบบหลักสูตรการพัฒนาก่อนแต่งตั้ง โดยต้องกำหนดหลักสูตรการพัฒนาให้สอดคล้องกับงานวิจัย เพื่อยืนยันว่างานวิจัยมีความน่าเชื่อถือและเป็นไปได้  ส่วนระยะยาว สพฐ.จะเสนอไปยังก.ค.ศ.ให้ปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งและวิทยฐานะ รวมถึงหลักเกณฑ์ก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง ซึ่งก็น่าจะสอดคล้องกับที่ก.ค.ศ.กำลังดำเนินการ การประเมินและประกันคุณภาพ

“ที่ประชุมคุยกันว่า สพฐ.เป็นหน่วยปฏิบัติ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.)เป็นหน่วยทำเครื่องมือวัด และ สมศ.เป็นหน่วยประเมิน จะทำงานร่วมกันอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างอ่านกฎหมาย แล้วก็เดินตามกฎหมายของตนเอง แต่วันนี้ที่ประชุมให้หลักการ ว่า สพฐ.ต้องทำโรงเรียนให้มีคุณภาพ แม้จะอยู่บนความแตกต่างของพื้นที่ แต่ก็ต้องมีการพัฒนาซึ่งไม่ว่าจะทำด้วยวิธีการอย่างไรก็ต้องมีการประกันคุณภาพภายในโรงเรียน ภายใต้ข้อจำกัดและโอกาสที่มีอยู่ ส่วน สทศ.ก็ต้องวัดตัวผู้เรียน ก็ต้องมาดูว่าถ้าให้เป็นเครื่องมือเดียวกันก็ต้องวัด 2 อย่าง คือวัดเพื่อการพัฒนาเด็กเป็นรายบุคคลหรือวัดคุณภาพระดับชาติ ก็ต้องให้โอกาสทุกคนได้รับการประเมิน แล้วผลการประเมินก็จะสะท้อนเป็น 2 ลักษณะ คือ ชี้เป็นรายบุคคล และชี้เป็นรายภาพรวมและกลุ่มที่แตกต่าง ซึ่งผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคต”เลขาธิการกพฐ.กล่าวและว่า ส่วน สมศ.ไม่ได้ประกันคุณภาพสถานศึกษา แต่มีหน้าทีในการประเมิน เวลาประเมินเมื่อก่อนก็มีเกณฑ์ไปประเมินแต่ในอนาคต  สมศ.จะไปประเมินในสิ่งที่โรงเรียนทำบันทึกประกันคุณภาพภายในไว้ ซึ่งเมื่อพบจุดอ่อนก็จะได้มาช่วยกันพัฒนา เป็นการช่วยกันขับเคลื่อนในเชิงกัลยาณมิตร โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือให้โรงเรียนมีคุณภาพ เพื่อผลักดันให้เด็กมีคุณภาพ เป็นการช่วยกันสร้างให้เด็กมีต้นทุนทางชีวิตขั้นพื้นฐานเพื่อเป็นประชากรที่มีคุณภาพ

ดร.อัมพร กล่าวอีกว่า ส่วนการขออนุมัติสร้างโรงเรียนใหม่นั้น ตอนนี้จะน้อยมากเพราะจะมีการยุบ การควบ การรวม และกาขยายชั้นเรียน แต่ทิศทางตอนนี้คือ ผู้ปกครองตระหนักถึงเรื่องคุณภาพมากกว่าโอกาส โดยต้องการให้ลูกเรียนในโรงเรียนที่คุณภาพดี สพฐ.จึงเสนอว่าจะทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน โดย ระดับปฐมวัยหรือก่อนประถมศึกษา ถ้าชุมชนหรือท้องถิ่นมีศักยภาพก็ให้จัดแต่ถ้ายังไม่มีความพร้อมสพฐ.ก็จะไปช่วยจัดให้มีคุณภาพ  ระดับประถมศึกษาก็ให้สพฐ.จัดเต็มที่ ท้องถิ่นก็มาสนับสนุน ก็จะทำให้มีการแบ่งเบาภาระมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันประถมศึกษาจำนวนหนึ่งไปเปิดขยายโอกาสแต่มีนักเรียนจำนวนไม่มาก ก็มีแนวทางแก้ไขโดยให้มัธยมจัดไป ก็จะทำให้เกิดความเป็นเอกภาพและมีทิศทางที่ดีขึ้น

 

 

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments