ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (กกศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการอย่างจริงจังนั้น  นพ. ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้ มอบหมาย รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำศธ. หารือกับคณะผู้ทรงคุณวุฒิที่ สกศ. เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อหาแนวทางส่งเสริมกลุ่มบุคคลที่มีความสามารถพิเศษ และได้พิจารณาโดยยึดกรอบทิศทางตามยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2579 ในยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่มี ดร.กฤษณพงษ์ กีรติกร เป็นประธาน ประกอบกับข้อมูลจากแผนและข้อเสนอของนักวิชาการ หน่วยปฏิบัติต่าง ๆ ใน ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้การส่งเสริมกลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษเป็นไปอย่างมีระบบ และเกิดความต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน  ซึ่งที่ประชุมได้กำหนดลักษณะของผู้มีความสามารถพิเศษ ตามแนวคิดพหุปัญญาที่มองว่ามนุษย์มีความสามารถที่หลากหลายแตกต่างกัน เช่น บางคนเก่งด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์ ด้านดนตรี ด้านกีฬา ด้านศิลปะ ตลอดจนการจัดการตนเองและความมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

เลขาธิการ กกศ. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ในการดำเนินการได้กำหนดเป็น 3 กิจกรรมสำคัญ กิจกรรมแรกเป็นการค้นหาผู้มีความสามารถพิเศษให้พบ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีบุคคลที่มีความสามารถพิเศษประมาณร้อยละ 10 ของประชากร ปัจจุบันได้มีการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นจากผู้ที่ประสบความสำเร็จในการประกวดแข่งขันในเวทีระดับจังหวัด ระดับประเทศ และนานาชาติ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีเครื่องมือคัดกรองบางส่วนอยู่แล้ว แต่จำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้ครอบคลุมความสามารถให้กว้างขวางและใช้ได้กับกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ตลอดจนต้องสร้างความตระหนักรับรู้ให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองและครู ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุดให้สามารถสังเกตและค้นพบเด็กกลุ่มนี้ให้ได้ กิจกรรมที่ 2 เป็นการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษ ซึ่งต้องดำเนินการแตกต่างกันตามความสามารถของแต่ละบุคคล และมีระบบในการส่งเสริมผู้ที่มีความสามารถพิเศษสูงยิ่งขึ้น  ที่ประชุมจึงมองว่าควรมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ควบคู่กับกิจกรรมการประกวดแข่งขันและการพัฒนาตามปกติ อย่างไรก็ดี ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจังครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งปัจจุบันมีการจัดการส่งเสริมบุคคลกลุ่มนี้ในบางกลุ่ม เช่น จัดให้มีโรงเรียนกีฬา โรงเรียนดนตรี สถาบันสอนศิลปะ ตลอดจนห้องเรียนพิเศษต่าง ๆ ในโรงเรียน และที่ประสบความสำเร็จมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ คือ การส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี

ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวอีกว่า  สำหรับ กิจกรรมที่ 3  เป็นกิจกรรมสำคัญในการที่จะเชื่อมโยงผู้มีความสามารถพิเศษต่าง ๆ ในการเข้าสู่อาชีพ ซึ่ง รศ.นพ.โศภณ  ได้มอบหมายให้ สกศ.  จัดการประชุมร่วมกับหน่วยปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและทบทวนแนวทางดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments