เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลโดย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายพัฒนาสถานศึกษาในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ที่มีภาคเอกชน 12 หน่วยงานเข้าร่วมพัฒนาโรงเรียน 50 โรงเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 สำหรับรุ่น ปีการศึกษา 2562 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา (สพฐ.) ได้เสนอรายชื่อโรงเรียน 42 โรงให้คณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ที่มี ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานพิจารณา ซึ่งขณะนี้บางโรงเรียนมีภาคเอกชนเสนอจับคู่ร่วมพัฒนาแล้ว แต่ยังมีบางกลุ่มที่มีความพร้อมแต่ยังไม่ได้จับคู่ และในปีนี้พบว่ามีภาคเอกชนกลุ่มใหม่เสนออยากจะมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาด้วย

“เรื่องสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปีนี้คือ สพฐ.ได้ดำเนินการแก้ไขระเบียบ กพฐ.เรื่อง คณะกรรมการสถานศึกษา กำหนดให้โรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษทุกขนาดมีคณะกรรมการสถานศึกษาจำนวน 15 คน ในจำนวนนี้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน โดยจะเริ่มใช้กับกับกลุ่มโรงเรียนร่วมพัฒนาก่อน จากเดิมกำหนดให้โรงเรียนขนาดเล็กมีคณะกรรมการสถานศึกษา 9 คน ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ 15 คน โดยเร็วๆนี้ ตนจะเสนอระเบียบดังกล่าวให้ นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธาน กพฐ.ลงนาม จากนั้น สพฐ.จะแจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ประกาศรายชื่อสถานศึกษาที่ได้รับการยกเว้นตามระเบียบ สพฐ.เพื่อดำเนินการสรรหาคณะกรรมการสถานศึกษาต่อไป”เลขาธิการกพฐ.กล่าว

ดร.บุญรักษ์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีข้อเรียกร้องจากบอร์ดบริหารฯอยากให้สพฐ.ปลดล็อกเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการจัดการศึกษา เพราะหน้าที่ของคณะกรรมการศึกษามีความสำคัญทั้งการกำกับดูแลการบริหารงาน บริหารบุคลากร บริการงบประมาณ มีหน้าที่อนุมัติหลักสูตรสถานศึกษาเป็นหลักสูตรเพิ่มที่โรงเรียนจัดขึ้นสอดคล้องกับพื้นที่ เพราะฉะนั้น ถ้าให้มีคณะกรรมการชุดเดิมอาจไม่เพียงพอ และเมื่อมีการร่วมมือจัดการศึกษาภาคเอกชนก็น่าจะสามารถมาร่วมวางแผนหลักสูตรได้ เช่น บริษัทน้ำตาลที่ร่วมพัฒนาโรงเรียน อยากให้เด็กทำอะไรร่วมกับชุมชนได้ ก็ต้องไปวางแผนจัดการศึกษา เป็นต้น ซึ่งครั้งนี้กำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน ก็เชื่อว่าจะมีการสอบถามความเห็นจากชุมชนและเสนอชื่อเข้ามา เพราะฉะนั้น ถือเป็นการมาร่วมพัฒนาร่วมคิด ร่วมทำ เป็นการยืดหยุ่นเพื่อให้โรงเรียนเป็นของชุมชนอย่างแท้จริง และถือเป็นความก้าวหน้าของการปฏิรูปการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมโดยเริ่มจากโรงเรียนร่วมพัฒนาก่อน และขยายไปกลุ่มโรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษอื่นๆ เช่น กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย หรือโรงเรียนจะเกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่นวัตกรรม

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments