เมื่อวันที่ 20 พ.ย.นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ว่า ครั้งนี้เป็นการประชุมนัดแรกของกรรมการชุดใหม่วาระ 3 ปี โดยที่ประชุมกำหนดให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมารับผิดชอบในเรื่องต่างๆ อาทิ อนุกรรมการด้านพัฒนาบุคลากร อนุกรรมการด้านกฎหมาย ฯลฯ จากนี้แต่ละคณะอนุกรรมการจะต้องไปหาประธานและกรรมการ ซึ่งรมว.ศึกษาธิการ ให้นโยบายว่าในองค์ประกอบของแต่ละคณะอนุกรรมการต้องมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวมอยู่และให้เร่งดำเนินการประกาศแต่งตั้งโดยเร็วเพื่อให้สามารถทำงานได้ทันที

เลขาธิการกช.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้  ที่ประชุมยังได้หารือประเด็นที่โรงเรียนเอกชนไม่สามารถจ่ายเงินเดือนครูเอกชนได้ตามวุฒิ รวมถึงกรณีที่โรงเรียนเอกชนแห่งในจังหวัดปัตตานียึดบัตร ATM ครู 23 คนนั้น ซึ่งจากการหารือร่วมกับสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) พบว่าปัญหานี้ไม่มีเพียงแค่ภาคใต้แต่พบได้ทั่วประเทศ มาจากสาเหตุเดียว คือ เงินอุดหนุนรายหัวที่รัฐสนับสนุนเงินสมทบเป็นเงินเดือนครูไม่เพียงพอตามอัตราที่ราชการกำหนด 15,000 บาท ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบให้ สช.ไปตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินอุดหนุนในส่วนสมทบเงินเดือนครูให้เพียงพอกับโรงเรียน มาเสนอเร่งด่วนภายใน 15 วัน อย่างไรก็ตาม จุดคุ้มทุนของโรงเรียนเอกชนที่รับเงินอุดหนุนเพียงพอที่จะจ่ายเงินเดือนครูต้องมีนักเรียนไม่น้อยกว่า 340 คน

นายชลำ ยังกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ได้หารือเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งที่ผ่านมาครูเอกชนส่วนหนึ่งที่ไม่มีใบอนุญาตฯ คุรุสภาผ่อนผันให้สามารถรับใบอนุญาตปฏิบัติการสอนชั่วคราว มีอายุ 2 ปีต่อได้ 2 ครั้ง รวม 4 ปีในระหว่างนั้นจะต้องดำเนินการให้ได้ใบอนุญาตฯตัวจริง ซึ่งหากครบกำหนดแล้วไม่มีก็ไม่สามารถปฏิบัติการสอนต่อได้ ตรงนี้ รมว.ศึกษาธิการ เห็นว่าคนที่เป็นครู มีผลประเมินยอดเยี่ยมกลายเป็นคุณสมบัติความเป็นครูจึงให้คุรุสภาไปทบทวนว่ากรณีผู้ที่มีคุณสมบัติครบแล้วผ่อนผันสามารถได้รับใบอนุญาตฯได้เลยหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลดีโรงเรียนเอกชนให้คนที่มีความรู้ ความสามารถอยู่กับโรงเรียนต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่หยิบยกมาพิจารณาคือเรื่องสวัสดิการของครูเอกชน ผ่านกองทุนสงเคราะห์ครู ซึ่งตามพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน กำหนดว่าครูเอกชนต้องเข้าเป็นสมาชิกกองทุน โดยเงินดอกผลจะใช้เพื่อการรักษาพยาบาลและการศึกษาของบุตร และเป็นเงินออมเมื่อออกจากงาน แต่ที่ผ่านมาพบปัญหาว่าไม่เพียงพอ เช่น ค่ารักษาพยาบาลกำหนดที่ 1 แสนบาทต่อคนต่อปี เป็นต้น ขณะที่กองทุนฯก็ติดลบดอกผลไม่เพียงพอจะดูแลครูเอกชนได้ และครูเอกชนได้รับสิทธิไม่เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นๆ อย่างสิทธิหลักประกันสุขภาพ ซึ่งรมว.ศึกษาธิการ มอบหมายให้สช.ดูแล อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สช.เคยมีหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาในหลายประเด็นว่าครูเอกชนสามารถใช้สิทธิสวัสดิการอื่นได้หรือไม่ แต่เร็วๆนี้ สช.จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คณะกรรมการกฤษฎีกา มาหารือร่วมกันโดยรมว.ศึกษาธิการจะเป็นประธานร่วมหารือด้วย

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments