เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะอนุกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.)รับฟังความคิดเห็น ได้ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่อง”เวทีประชาคมของภาคประชาชนต่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 31 ม.ค .ถึงวันที่ 1 ก.พ.2562 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ตัวแทนภาคประชาชน เขตพื้นที่ ครู นักเรียน และผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการศึกษามาร่วมกันแสดงความคิดเห็น โดย ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) กล่าวว่า กอปศ.มีเวลาทำงาน 24 เดือน ซึ่งก็ผ่านมา 20 เดือนแล้ว โดยหน้าที่ของกอปศ.คือการพิจารณาหาข้อมูลและข้อเสนอแนะจากทุกส่วน เพื่อนำไปออกเป็นกฎหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะต้องแก้ไขให้ได้ และต้องลงมารับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติจริงในพื้นที่ด้วย

“การปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญ คือ สถานศึกษา ทำอย่างไรถึงจะถูกสั่งการจากส่วนกลาง เพราะตอนนี้โลกกำลังเปลี่ยนแปลง การเรียนแบบท่องจำ ไม่อาจสร้างคนในอนาคตได้ ซึ่งเราจะต้องสอนให้เด็กรู้จักคิด ดังนั้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายจึงมีความสำคัญ เพราะจะเป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จ บทบาท ของประชาชน พ่อ แม่ เครือข่ายต่าง ๆ จะทำให้โรงเรียนเดินหน้าไปได้ ซึ่งการมีสมัชชาการศึกษาระดับจังหวัด มีทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันคิด เพราะการปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่เป็นเรื่องของกอปศ. แต่ทุกคนต้องมาช่วยกัน ถึงจะทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาได้”ประธาน กอปศ.กล่าวและว่า ส่วนเรื่องการจัดการคุณภาพการศึกษา และความเหลื่อมล้ำนั้น ขณะนี้มีคนที่หลุดจากระบบการศึกษาประมาณ 4 ล้านกว่าคน ซึ่งจุดนี้จะต้องได้รับการแก้ไข โดยขณะนี้พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้ออกเป็นกฏหมายเพื่อมาช่วยเหลือคนที่มีความจำเป็นจริง ๆ โดยจังหวัดอุบลราชธานีได้รับความช่วยเหลือจากองทุนฯไปแล้วประมาณหมื่นกว่าราย แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานีมีความตื่นตัวในเรื่องของการปฏิรูปการศึกษา เพราะกฎหมายที่จะคลอดออกมาจะเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ซึ่งอยากจะให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็วในรัฐบาลนี้ เพราะการศึกษามีหลายองค์ชายมีการทำงานร่วมกันหลายระดับ ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น การให้โอกาสพื้นที่ได้สะท้อนเป็นผู้ขับเคลื่อนเป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่ให้ส่วนกลางมาสั่งการโดยตรง ต้องเริ่มต้นจากความต้องการ จากศักยภาพ ตามอัตลักษณ์ของพื้นที่ ทั้งเรื่องเนื้อหาหลักสูตรซึ่งกฏหมายใหม่ที่จะออกมาจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับการพัฒนาการศึกษาที่นำไปสู่คุณค่าของการมีส่วนร่วมพัฒนา

ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ส่วนเรื่องกองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา ยอมรับว่าจังหวัดอุบลฯเรายังไม่ชินกับกองทุนใหม่ ซึ่งจะต้องสร้างการรับรู้เพิ่มเติมให้กับประชาชน ซึ่งจะต้องนำไปคุยกันในเวทีภาคประชาชนด้วย ต้องกระจายการรับรู้ให้กว้างขวางมากขึ้นตั้งแต่ชุมชน หมู่บ้าน ให้รับทราบประโยชน์โดยตรงในพื้นที่การศึกษาจะได้รับรู้ว่าโอกาสทางการศึกษาไม่ใช่เพียงแต่สถานศึกษาที่มีเงินอุดหนุน กองทุนฯจะเป็นปัจจัยสำคัญเพราะวันนี้ผู้ปกครองที่เป็นหนี้นอกระบบกู้เงินไปให้ลูกเรียน ขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน หากมีกองทุนฯนี้ขึ้นจะช่วยได้มากเด็กยากจนจะได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและลดภาระผู้ปกครองให้เด็กมีสำนึกมีความพร้อมที่จะศึกษาได้ประโยชน์เรียนฟรีจากภาคบังคับ และเงินก็ กยศ.แล้ว เมื่อมีกองทุนฯนี้ด้วยก็จะได้ประโยชน์เข้าถึงแนวทางที่จะลดภาระผู้ปกครองไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งที่จังหวัดอุบลฯมีความเหลื่อมเยอะมีเยาวชนในวัยเรียนออกกลางคันเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้จากการรับฟังความคิดเห็นในเวทีประชาคมที่วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เริ่มต้นจากตัวแทนข้าราชการบำนาญ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาจะประสบความสำเร็จได้ จะต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่รากหญ้า จนถึงระดับบริหาร เพราะรากหญ้าจะรู้บริบทของพื้นที่ตัวเอง แต่ปัจจุบันผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการร่างปฏิรูปการศึกษา ไม่มีการแต่งตั้งคนที่เป็นรากหญ้าเข้าไปช่วยร่างฯ

ตัวแทนเกษตรกร กล่าวว่า การปฏิรูปจะต้องปฏิรูปให้คนกินดี อยู่ดีก่อน  การแก้ไขความเหลื่อมล้ำจะต้องแก้ไขที่โครงสร้างด้วย เพราะคน เป็นเรื่องสำคัญ เอาเปรียบกันตั้งแต่พันธุกรรม คนไม่ดีก็มีการคอรัปชั่น ผู้บริหารก็คุยแต่เรื่องตำแหน่ง นี่คือสาเหตุหนึ่งของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งต้องเอาความจริงมาพูดกัน

ตัวแทนข้าราชการครูคนหนึ่ง กล่าวว่า ทำอย่างไรโรงเรียนถึงจะสร้างเด็กให้มีวินัย เพราะปัจจุบันเด็กขาดวินัย ดังนั้นเราต้องสร้างให้ทุกคนมีวินัยก่อน เรื่องอื่น ๆ ก็จะตามมา

ตัวแทนนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า สมัยนี้เด็กไม่รู้จักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงอยากให้นำเรื่องนี้บรรจุในหลักสูตรเพื่อให้เด็กรักชาติตั้งแต่ยังเด็ก

ตัวแทนสภานักเรียน กล่าวว่า การศึกษาไทยให้เด็กเยอะเกินไป และสอนที่จะให้เลือกอาชีพที่ตัวเองต้องการเมื่อขึ้นอยู่ในระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วควรปลูกฝังเด็กในการค้นหาอาชีพที่เขาต้องการตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อให้เด็กรู้อนาคตของตัวเอง

ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า ปฏิรูปการศึกษามีมานานแล้ว แต่ต่อไปนี้จะต้องปฏิรูประบบคิด เพราะนี่คือความเหลื่อมล้ำ พอได้ตำแหน่งสูงขึ้นก็ไปคิดใหม่ หลวงปู่ชาท่านก็ปฏิรูประบบความคิดตัวเอง เมื่อปฏิรูประบบความคิดแล้วก็ต้องมาปฏิรูปสังคม เพราะถ้าไม่ปฏิรูปสิ่งเหล่านี้ ปฏิรูปกี่ครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าระบบคิดยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจริง ๆ แล้ว กอปศ.จะต้องลงมาฟังความคิดเห็นก่อนเสนอร่างปฏิรูป เสียดายที่มาช้าเกินไป

ยังมีอีกหลายส่วนที่มาแสดงความคิดเห็น และนี่คือตัวอย่างบางส่วนที่นำมาเสนอเท่านั้น

 

 

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments