ดร.นิวัตร นาคะเวช นายกสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้แทนสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย สมาคมกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย (ส.ก.ส.ท.) และสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ได้เข้าพบ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเสนอแนะความคิดเห็นแนวทางการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาไปสู่คุณภาพของกระทรวงศึกษาธิการ โดย ทั้ง 3 องค์กร เห็นตรงกันว่า 1. ด้านการบริหารการศึกษา มองคุณภาพการศึกษา ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 เด็กเรียนฟรี 12 ปี การศึกษาภาคบังคับที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 54 แต่สิ่งหนึ่งที่น่าพะวงมาก คือ คุณภาพการศึกษาที่เราแปลความหมายไม่ตรงกัน แม้แต่ผู้ปฏิบัติก็แปลไม่ตรงกัน บางคนแปลว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนมาเป็นเรื่องคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นการแปลที่อันตรายที่สุด อย่างไรก็ตามคุณภาพการศึกษาถึงแม้จะเป็นนามธรรม แต่ก็สามารถแปลเป็นรูปธรรมได้
ดร.นิวัตร กล่าวว่า การที่เราจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ ปัจจัยของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้เรียนอย่างเดียว แต่ถ้ามองแบบองค์รวม แบ่งเป็น 7 ประเด็น ได้แก่ 1. คือคุณภาพในการบริหารภาครัฐที่เกี่ยวกับการศึกษาของคณะรัฐมนตรี ของภาครัฐที่เกี่ยวกับการศึกษา 2. คือคุณภาพในการจัดการบริหารการศึกษาระดับกระทรวงศึกษาธิการ ต้องมองว่าวันนี้มีคุณภาพหรือยัง 3. คือคุณภาพการบริหารจัดการในระดับจังหวัดเป็นอย่างไร ถ้าคุณภาพการจัดการระดับจังหวัดไม่ได้เรื่องมันก็ไม่ได้เรื่องทั้งหมด คุณภาพในการจัดการบริหารโรงเรียนต้องชัดเจน 4. คือคุณภาพในการบริหารจัดการโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนประถม มัธยม และการศึกษาพิเศษ ต้องชัดเจน 5. คือคุณภาพของผู้บริหารโรงเรียน ถ้าผู้บริหารโรงเรียนไม่ได้เรื่องก็ไม่มีทางที่โรงเรียนแย่แต่ผู้บริหารเยี่ยม 6. คือคุณภาพในการบริหารจัดการเรื่องครูเป็นอย่างไร 7. คือคุณภาพผู้เรียน แล้วสิ่งที่สำคัญก็คือคุณภาพของผู้ปกครองและชุมชน เราลืมกันไปเลยในเรื่องนี้ซึ่งผู้ปกครองและชุมชนเป็นจุดที่มีความหมายมากมาย
ดร.นิวัตร กล่าวว่า คุณภาพการศึกษาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าเราแก้ปัญหาในมุมใดมุมหนึ่ง โดยเฉพาะการจัดการบริหารของภาครัฐ รัฐมีหลักในการจัดการอำนาจในโรงเรียนหรือไม่ รัฐมีเจตนาอย่างไรบ้างที่จะให้ทุกภาคส่วน ทุกองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ในขณะเดียวกันความเสมอภาคของผู้เรียนมีโอกาสแค่ไหนอย่างไร ในระดับกระทรวงไม่พอ รัฐต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย คุณภาพคนไม่ได้หมายความว่าคุณภาพผู้เรียนอย่างเดียว เพราะมันประกอบด้วยทางสังคม ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ทุกตัวกระทบกับคุณภาพคนทั้งหมด แต่คนก็มักจะมาโทษแต่คุณภาพผู้เรียน เพราะคุณภาพคนมีปัจจัยหลายอย่าง นอกจากนี้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเกริ่นมาตั้งแต่ปี 2542 รัฐบาลที่แล้วทำไม่สำเร็จทั้ง ๆ ที่เป็นกฎหมายการปฏิรูปและรูปควรแล้วเสร็จภายในสองปี ซึ่งท่านจะเป็นกลไกหลักในการผลักดันให้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติสำเร็จในสมัยที่ท่านเป็นรัฐมนตรี และในการจัดการของภาครัฐ เรื่องเทคโนโลยีและสารสนเทศ ซึ่งไม่ใช่แค่ระบบโรงเรียน แค่ระบบกระทรวง แต่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต้องเข้าไปช่วยไม่ใช่ปล่อยให้กระทรวงศึกษาธิการโดดเดี่ยวเดินลำพัง
ดร.นิวัตร กล่าวอีกว่า ส่วน เรื่องกองทุนการศึกษา กองทุนพัฒนาครู กองทุนเทคโนโลยี รัฐมนตรีจะต้องประสานขอกองทุนสนับสนุนเงิน ประสาน กสทช. ขณะที่เรื่องหนี้สินครู ถ้ารัฐบาลจัดตั้งกองทุนกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำได้จะทำให้เกิดกำลังใจกับครูได้ดีขึ้น สำหรับ เรื่องเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนที่ให้โรงเรียนไป ถ้าโรงเรียนมีเด็ก 100 คน เงินอุดหนุนรายหัวจะพอในการบริหารโรงเรียนได้อย่างไร ต้องคิดว่าจะให้งบโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ควรเป็นเท่าไร ส่วนเรื่องของยาเสพติด ซึ่งเป็นตัวบั่นทอนทั้งระบบของเด็กและเยาวชน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ โรงเรียน เราไม่มีทางสร้างเด็กที่ติดยาให้มีคุณภาพได้ ทราบว่าหลายฝ่ายมีการจัดการเรื่องนี้ ซึ่งถ้าเราสามารถขจัดปัญหาสังคมนี้ได้คุณภาพการศึกษาก็ดีขึ้นแน่นอน และเรื่องของหน้าที่ ทุกวันนี้เด็กจะออกมาเรียกร้องแต่สิทธิเสรีภาพแต่ไม่ค่อยรู้หน้าที่ ดังนั้นเราต้องปลูกฝังให้เด็กรู้หน้าที่เพราะเป็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศชาติ สุดท้ายรัฐต้องเปลี่ยน ถ้ารัฐยังปล่อยให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สร้างหลักสูตรแกนกลางอย่างเดียว แต่รัฐลืมที่จะดูเรื่องสุขภาพผู้เรียน เรื่องกีฬา เรื่องศิลปวัฒนธรรม เรื่องประวัติศาสตร์ ฉะนั้นรัฐต้องกำหนดเรื่องเหล่านี้ลงในหลักสูตรด้วย
สำหรับการบริหารจัดการในระดับกระทรวง ทั้ง 3 องค์กร มองว่า มีประเด็น คือ 1.เรื่อง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ยังใช้ พ.ร.บ.เดิมอยู่ ต้องศึกษารายละเอียดเพื่อเตรียมรับเรื่องของการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งกฎหมายบริหารต่างๆ กฎหมายการบริหารบุคคลต่าง ๆ มากมาย และ การประท้วงต่าง ๆ ด้วย
- เรื่ององค์กรวิชาชีพครู ซึ่งถูกสลายไปสมัยการปฏิวัติ ยุบองค์กรวิชาชีพครู เป็นผู้แทนแต่งตั้งเป็นตัวแทนของหน่วยงานซึ่งไม่ใช่ผู้แทนครูอย่างแท้จริง โดยไม่มีตัวแทนของครูเลย
-โครงสร้างของกระทรวง คงต้องทบทวนภารกิจของงาน ให้ระดับองค์กรในกระทรวง รวมถึงโครงสร้างระดับจังหวัด
-เรื่องการกระจายอำนาจสู่โรงเรียน เราพยายามเรียกร้องให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล มีการจะให้ทดลองเป็นรายโรงเรียนว่าโรงเรียนไหนพร้อมไม่พร้อม
-เรื่องการจัดสรรงบประมาณ ที่ผ่านมาจัดสรรเป็นองค์รวม ไม่ได้เอาพื้นที่เป็นฐาน ไม่ได้เอาโรงเรียนเป็นฐาน ไม่ได้เอาจังหวัดเป็นฐาน
3.ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาในระดับจังหวัด เพราะเป็นการบริหารแบบแยกส่วน แยกสายบังคับบัญชา ประถม มัธยม ไม่เป็นองค์รวม ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ได้ ต้องมีแผนยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด (ปัจจุบันจะแบ่งเป็นคลัสเตอร์) จำเป็นจะต้องปรับให้มีส่วนร่วมในระดับจังหวัด หอการค้า ประธานอุตสาหกรรม นักธุรกิจ อาชีวะเดินไปทาง กรมส่งเสริมการเรียนรู้เดินไปทาง ก็ไม่สามารถบริหารในทิศทางที่ใหญ่ได้ จึงต้องวางแผนร่วมกันในระดับจังหวัด ให้ทุกส่วนมีส่วนร่วมคิดร่วมทำและต้องส่งเสริมภาคเอกชนด้วย เพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาในระดับจังหวัด
4.การพัฒนาระดับโรงเรียน ให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นประถม มัธยม และการศึกษาพิเศษ การศึกษาสงเคราะห์ สิ่งแรกที่โรงเรียนต้องตั้งรับคือโรงเรียนเป็นนิติบุคคล ทุกโรงเรียน ถ้าสามารถจัดการเองได้จะเกิดประโยชน์มาก กรรมการสถานศึกษาหรือบอร์ดของโรงเรียนมีความสำคัญมาก กระทรวงและสพฐ.ให้อะไรกับกรรมการสถานศึกษาบ้าง ทั้งที่เขาดำเนินการทุกอย่างให้โรงเรียน
5.โครงสร้างในการบริหารจัดการโรงเรียน ซึ่งแบ่งเป็น 4 ฝ่ายคือ ฝ่ายบริหารทั่วไป ฝ่ายงบประมาณ ฝ่ายบุคคล และฝ่ายวิชาการ ซึ่งในอดีตเคยมีฝ่ายสัมพันธ์ชุมชนที่เป็นส่วนสำคัญมาก แต่ปัจจุบันหายไปแล้ว
6.การบริหารโรงเรียนระดับเครือข่าย ที่เรียกว่าโรงเรียนดีประจำตำบล โรงเรียนดีประจำอำเภอ ซึ่งแก้ปัญหาได้ถูกจุดระยะหนึ่ง แต่แล้วก็หายไป เรื่องนี้เราประเมินที่ตัวเด็กที่เด็กสะท้อนออกมา เพราะฉะนั้นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้โดยการสร้างศูนย์เรียนรู้ขึ้นในโรงเรียนเครือข่าย สร้างแบบอย่างให้เขาเห็นแล้วเรียนรู้ร่วมกัน มีประธานเครือข่ายทั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ทั้งระดับประถมและมัธยม
7.คุณภาพของผู้บริหาร ต้องตระหนักเสมอว่าเขาให้มาบริหารหลักสูตร ถ้าผู้บริหารโรงเรียนไม่เข้าใจหลักสูตรแกนกลางที่ สพฐ. กำหนดมีกี่เปอร์เซ็นต์ ผู้บริหารควรศึกษาหลักสูตรท้องถิ่นและจัดทำเป็นหลักสูตรของโรงเรียนได้ เพราะฉะนั้นความร่วมมือของชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ อีกเรื่องที่ผู้บริหารต้องมีคือเรื่องภาวะผู้นำ ไม่ใช่มีแค่ทักษะเชิงมนุษย์อย่างเดียว ที่จะต้องเติบโต เพราะใช้วิธีสอบคัดเลือก ผู้บริหารบางท่านจึงขาดทักษะเชิงเทคนิค ระบบผู้บริหารโรงเรียนปัจจุบันนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วงใย ในอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเติบโตมาจากโรงเรียนขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ แต่สมัยนี้ใช้วิธีการสอบ ทำให้ขาดทักษะนี้ไป ทักษะครองคน ครองงาน จะเสียไป สำคัญที่สุดผู้บริหารต้องมีความคิดรวบยอดเรื่องหลักสูตรมากที่สุด ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้จะไม่มีโอกาสพัฒนาให้โรงเรียนประสบความสำเร็จได้
เรื่องของคุณภาพครูเราวางระเบียบกฎเกณฑ์มาตรฐานโดยกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อก่อนเรามีวิทยาลัยครูเล็กๆ เดี๋ยวนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดทุกแผนก แทนที่จะเป็นวิทยาลัยครู สร้างครูทั้งทักษะด้านพฤติกรรม ทั้งคุณลักษณะนิสัยต่างๆหายไปหมด ไม่ได้หลักสูตรอิงประสบการณ์ ปัจจุบันเราได้หลักสูตรอิงเนื้อหา ได้แต่วิชาหนังสือ เราจะไม่ได้คนที่จะมาเป็นครูจริงๆ การใช้วิธีสอบเข้ามาเป็นครู มีแต่ความเก่ง แต่เรื่องพฤติกรรมเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เราไม่สามารถวัดคุณลักษณะของครูได้ การบรรจุครูเดี๋ยวนี้ก็ไม่ใช่ สบมท.เรียกร้องว่า การสอบครูผู้ช่วยไม่ทันต่อการขาด คือประกาศน้อยไป กระทรวงต้องประกาศทีเดียวให้เยอะอยากให้วางแผนระยะยาว
8.การบรรจุครูอัตราจ้าง อยากให้มองไปที่โรงเรียน เรามีครูอัตราจ้างเยอะมากเลย แต่ตามกฎเกณฑ์ในการสอบใครที่เป็นครูอัตราจ้างเกิน 3 ปี มีสิทธิ์สอบได้ อยากให้เปลี่ยนกลยุทธ์ว่าใครที่เป็นครูอัตราจ้าง 8 ปีขึ้นไปให้บรรจุเป็นครูเลย ไม่ต้องสอบ เพราะคงไม่มีใครจ้างมาถึง 8 ปีถ้าไม่ดีพอ
9.เรื่องวิทยฐานะ มีการเรียกร้องมามาก ซึ่งน่าเป็นห่วงมากที่ยุคหนึ่งเปลี่ยนมาเป็น ว.PA ไม่ใช่ว่า ว.PA ไม่ดี แต่คุณต้องเปิดให้เขามีทางเลือกไม่ใช่ไปบังคับเลือก ว.อื่น ๆ ไม่ให้ทำ ให้ทำ ว.PA อย่างเดียว ครูกลายเป็นนักแสดง อยากให้กลับไปดูเรื่องวิทยฐานะ เราไม่เปิดโอกาสให้ครูเลือกความก้าวหน้าของตัวเองเลย มันขัดต่อสภาพความเป็นจริง
10.การพัฒนาครูโดยการเทียบเคียงมาตรฐาน ที่สำคัญมากอีกเรื่องคือการพัฒนาครู ทุกวันนี้เราใช้งบประมาณในการพัฒนาครู การจัดฝึกอบรม สัมมนา อย่างเดียวคงเห็นผลได้ไม่มากนัก อยากให้มีการเทียบเคียง และในระหว่างโรงเรียนกับโรงเรียน ในระหว่างกลุ่มสาระกับกลุ่มสาระ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ครูทุกคนจะต้องมีนวัตกรรมมาแสดง นำการจัดการเรียนการสอนมาเทียบเคียงกัน การที่เราให้มีการแข่งขัน นั่นคือการพัฒนาโดยอัตโนมัติ ทุกวันนี้การพัฒนาครูเป็นการพัฒนาที่ไม่ถูกทาง เสียดายงบประมาณอย่างยิ่ง ถ้าเราสามารถสร้างโรงเรียนเครือข่ายได้ มีโรงเรียน ที่เป็นแม่ข่าย ทุกโรงเรียนมีการเทียบเคียงกัน ถ้าเราใช้ระบบนี้การพัฒนาครูจะเกิดขึ้น จะมีการเสริมเทคโนโลยีใหม่ๆ เสริม AI ที่ดีเข้าไป แล้วมาเรียนรู้ร่วมกัน บางโรงเรียน มีหุ่นยนต์มาเดินตัวเดียวแล้วบอกมี AI ซึ่งมันไม่ใช่ ให้เด็กคิดและทำสร้างสรรค์นวัตกรรมมีคอนเซ็ปต์มีกระบวนการสร้างหุ่นยนต์ ไม่ใช่หุ่นยนต์มาโชว์ เพราะฉะนั้นเรื่องการพัฒนาครูต้องใช้หลักของการเรียนรู้ร่วมกัน
11.เรื่องของสวัสดิการครู เมื่อก่อนเรามีบ้านพักครู มีแฟลตให้ รู้สึกสงสารครูบรรจุใหม่ โดนทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง เข้าไปอยู่บ้านพักครูไม่ได้ เพราะมีระเบียบห้ามเข้า ครูที่ไม่มีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้นถึงจะมีสิทธิ์เบิกค่าเช่าบ้าน อยู่บ้านพักได้ แต่ครูที่บรรจุใหม่อยู่ศรีสะเกษมาบรรจุอยุธยา ต้องเช่าบ้านอยู่ ถ้าเราไม่มีแฟลตในโรงเรียน มีบ้านพักครูในโรงเรียนได้ ครูก็ลำบาก นี่เป็นเรื่องสำคัญที่เรามองข้ามไป
12.อยากให้ออกนโยบาย อยากให้มีคำคม จาก รมต.สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล “ขอให้ครูทั่วประเทศรักเด็กทุกคนในห้องเรียนทุกคนให้เท่ากัน”
13.คุณภาพของผู้เรียน เรื่องคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ทักษะการใช้ชีวิตเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเด็กไทยในยุคนี้ การที่เด็กไม่รู้จักการแก้ปัญหา เชื่อสื่อมากกว่าพ่อแม่ อยากบอกว่าในโทรศัพท์มันคือภาพเสมือนจริง มันไม่ใช่ภาพจริงทั้งหมด ถ้าเด็กขาดการวิเคราะห์ สังเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อจะกระทำให้เกิดเป็นข้อมูลสารสนเทศได้ เด็กจะสมบูรณ์แน่ แต่ทุกวันนี้เด็กเอาภาพเสมือนจริงมาเป็นความจริง ขาดการวิเคราะห์ สังเคราะห์ เขาถึงตัดสินใจพลาดเพราะเอาภาพจากโทรศัพท์มาเป็นภาพจริง ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายของชีวิตเด็กไทยมาก ๆ … ผมต่อสู้กับกรมวิชาการมามาก ว่า ทำไมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็กไทยจึงขาดคำว่ากตัญญู
คุณลักษณะที่พึงประสงค์อันแรกต้องคือความกตัญญูแล้วทุกอย่างจะตามมา คนญี่ปุ่นทำไมไหว้พระอาทิตย์ คนจีนทำไมไหว้พระจันทร์ เพราะเขาฝึกความกตัญญู ถึงจะกตัญญูต่อพ่อแม่ กตัญญูต่อครู กตัญญูต่อเพื่อน เมื่อไหร่ที่ทำตรงนี้จึงจะกตัญญูต่อสังคม กตัญญูต่อประเทศชาติ แต่ทุกวันนี้คุณลักษณะอันพึงประสงค์ในหลักสูตร 2521 ขาดคำว่ากตัญญูไป แต่ทุกอย่างอยู่ที่การกำหนดตัวชี้วัด อยู่ที่การกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ของผู้เรียน พอเราพูดถึงคุณลักษณะของผู้เรียนเราดูที่สติปัญญาอย่างเดียว สิ่งที่ควรต้องสร้างในคุณลักษณะของผู้เรียนคือ ร่างกาย ถ้าหลักสูตรของเราในการสร้างร่างกาย ในระบบโรงเรียน ซึ่งทุกวันนี้เราทิ้งกลุ่มการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษาไปเลย พอให้ออกกำลังกายกลางแจ้งทำให้เสียเวลาเรียน เราต้องกลับไปทบทวนว่าเราจะสร้างสุขภาวะให้เด็กอย่างไร เรื่องที่สองคือเรื่องอารมณ์และจิตใจ และคุณธรรม ใครก็ตามที่อารมณ์ดี จิตใจดี คนคนนั้นจะมีความสุข เพราะฉะนั้นโยบายเรียนดีมีความสุข ต้องเริ่มจากตรงนี้ คนที่มีความสุขไม่เป็นคนชั่ว คนที่เป็นคนชั่วคือคนที่ไม่มีความสุข อารมณ์ดี จิตใจดี จะนำไปสู่ธรรมะ นำไปสู่จริยธรรม ไปสู่อารมณ์ที่ไม่มีการกราดยิงอะไรทั้งสิ้นและเราต้องสอนให้เด็กรับผิดชอบต่อสังคม สอนให้เขาเป็นผู้ให้ พาเด็กไปฝึกงานจิตอาสาที่โรงพยาบาล สถานที่ต่างๆ นั่นคือการรับผิดชอบต่อสังคม สอนให้รับผิดชอบต่อประเทศชาติเป็นเรื่องที่โรงเรียนต้องสร้าง
15.ควรมีหน่วยงานที่ดูแลผู้ปกครองเพื่อสร้างความเข้าใจ เรื่องผู้ปกครองและความสำคัญของครอบครัว ที่บ้านเด็กกับผู้ปกครองคุยกันน้อยมากแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเด็กคุยกับสื่อเทคโนโลยี 90 เปอร์เซ็นต์ ท่านคิดว่าคุณภาพเด็กจะเป็นอย่างไร ทุกครั้งโทษแต่โรงเรียน ว่าโรงเรียน นี้ไม่ได้เรื่องสร้างเด็กที่ดี จริงๆแล้วมาจากครอบครัว โรงเรียนไม่ประสานไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าที่ควร จึงกลายเป็นทุกอย่างที่เด็กไปเชื่อเรื่องเสมือนจริง ส่วนที่สองของผู้ปกครองก็คือวินัย เรื่องของความรับผิดชอบกับชีวิต ไม่ได้เกิดที่โรงเรียน มันเกิดที่บ้าน มีผู้ปกครอง10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สร้างความเข้าใจ สร้างความอบอุ่นให้กับเด็ก ทุกวันนี้เด็กไม่เคยปูที่นอนเอง ซักผ้า ล้างจานก็ไม่เคยทำเอง ถ้าทุกอาทิตย์ต้องซักผ้าเอง กินแล้วต้องล้างจานเอง ก็จะทำให้เกิดวินัย ผู้ปกครองต้องสร้างเขา
เรื่องระบบการช่วยเหลือดูแลนักเรียน เป็นเรื่องสำคัญที่พยายามผลักดัน ที่ผ่านมาไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเพราะเวลาครูไปเยี่ยมบ้านเบี้ยเลี้ยงก็ไม่มีให้ ค่าเดินทางก็ไม่มีให้ ครูบางคนเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายเองไปพบผู้ปกครองทุกบ้าน ไปเห็นห้องน้ำเล็กๆ ไปเห็นพื้นที่เขานั่ง ครูเห็นก็สงสาร ถึงจะรู้ว่าเด็กคนนี้อยู่กับยาย เด็กคนนี้พ่อแม่เลิกกัน ครูก็จะเข้าใจเด็ก ที่บอกว่าขอให้รักเด็กเท่าๆกันเกิดจากระบบดูแลช่วยเหลือเด็ก เป็นส่วนหนึ่งที่ ผู้ปกครองและโรงเรียนร่วมมือกัน
16.เรื่องศูนย์การศึกษาของชุมชน ถ้าเราต้องการให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ศูนย์การศึกษาของชุมชนต้องบูรณาการร่วมกันทั้งหมดควรมีครบทุกมิติ ไม่ใช่เฉพาะโรงเรียน ต้องมีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ หน่วยงานทุกหน่วย โรงเรียนเป็นหลักที่ทำให้เกิดศูนย์การศึกษาของชุมชน ที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง