เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ ศูนย์สรรพสินค้า ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ ได้มีการแข่งขันหุ่นยนต์เอบียู โรบอท คอนเทสต์  (ABU  : Asia-Pacific Robot contest) ประเทศไทย ประจำปี 2561 ภายใต้ชื่อการแข่งขัน “ลูกช่วงมังกรบิน พิชิตถ้วยทองคำ” เพื่อค้นหาตัวแทนประเทศไทยไปร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ เอบียู เอเชีย แปซิฟิค โรบอท คอนเทสต์ 2018 ณ เมืองนินห์บิงห์  ประเทศเวียดนาม ในเดือนสิงหาคมนี้

ดร.สุเทพ  ชิตยวงษ์  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย เป็นเวทีสำคัญที่ให้นักเรียน นักศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ได้นำความรู้ความสามารถมาพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีศักยภาพสูงตามโจทย์ที่กำหนดไว้ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน มีการทดสอบโดยการแข่งขันประลองฝีมือด้านวิศวกรรม และการบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ มาใช้อย่างเต็มความสามารถ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งการแข่งขันที่ช่วยกระตุ้นความสนใจทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี นำไปสู่การพัฒนาการเรียนหรือยกระดับต่อยอดผลงานสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการบุคลากรของประเทศได้ในอนาคต

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศหุ่นยนต์ เอบียู โรบอท คอนเทส  ประจำปี 2561 (ABU  : Asia-Pacific Robot contest 2018 Ninh Binh-Viet Nam) รอบชิงชนะเลิศประเทศไทย 16 ทีม สุดท้าย ระหว่างทีมจากอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา มี 8 ทีม อาชีวศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่การแข่งขันครั้งนี้ ประกอบด้วย  1. ทีมขุนด่านปราการชล วท.นครนายก 2. ทีมพนมดิน ROBOT และ 3. ทีมบ้านช้าง ROBOT จากวิทยาลัยการอาชีพ(วก.)ท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ 4. ทีมนายฮ้อยทมิฬ วก.สว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร 5. ทีมรวงทองโรบอท วท.อ่างทอง 6. ทีมแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ วก.วิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง และ 8. ทีมหอยหลอด วท.สมุทรสงคราม

โดยกติกาการแข่งขันจะแบ่งทีมออกเป็น 2 ฝ่าย คือ สีแดง และ สีน้ำเงิน  โดยแต่ละทีมจะมีหุ่นยนต์บังคับด้วยมือ ทำหน้าที่ในการลำเลียงลูกช่วง ให้กับหุ่นยนต์อัตโนมัติ โดยหุ่นยนต์อัตโนมัติเท่านั้นที่จะสามารถยิงลูกช่วงให้ผ่านวงแหวนได้ และหากลูกช่วงทองคำลอดผ่านวงแหวนทองคำและลงไปบนถ้วยทองคำ (GC)ได้สำเร็จ จะถือว่าเป็น ผู้ชนะการแข่งขันที่เรียกว่า “Rong Bay ออกเสียงว่า หร่ง ไบ๋” (มังกรบิน) และการแข่งขันยุติลง หากไม่มีทีมใดสามารถทำ หร่ง ไบ๋ (Rong Bay) ได้ เมื่อเวลาการแข่งขัน 3 นาที สิ้นสุดลง ผู้ชนะ  การแข่งขันจะพิจารณาจากทีมที่มีคะแนนสูงกว่า

ซึ่งผลการแข่งขันมีดังนี้ ทีมชนะเลิศ ได้แก่ทีมกันเกรา จากมหาวิทยาอุบลราชธานี คว้าชัยชนะไปครอง โดยสามารถทำ Rong Bay หร่ง ไบ๋ (มังกรบิน) ได้ในเวลา 35 วินาที  ได้รับรางวัลเงินสด 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และจะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันชิงแชมป์หุ่นยนต์นานาชาติ เอบียู เอเชีย แปซิฟิก คอนเทสต์ 2018 กับอีก 18 ประเทศ ที่สาธารณรัฐเวียดนาม  ในเดือนสิงหาคมนี้   โดยรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม ขุนด่านปราการชล วท.นครนายก ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และ รองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ทีม บ้านช้าง ROBOT วก.ท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ และทีม GOLD GEAR สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ได้รับเงิน รางวัลละ 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัล

สำหรับรางวัลอื่น ๆ จากการแข่งขันในครั้งนี้ได้รับรางวัลเงินสด รางวัลละ 10,000 บาท ได้แก่ รางวัลหุ่นยนต์อัตโนมัติยอดเยี่ยม ได้แก่ ทีมหอยหลอด  วท.สมุทรสงคราม รางวัลความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่  ทีม Mechatronic 1  สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม ได้แก่ ทีม The Advent มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และ รางวัลศิลปะยอดเยี่ยม ได้แก่ ทีมGOLD GEAR  สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments