สพฐ. มีแนวทางส่งเสริมการมีงานทำของเด็กพิการ โดยร่วมกับสถานประกอบการ ภาคเอกชน โรงเรียนเพื่อคนพิการ รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดเตรียมเด็กพิการที่เรียนอยู่ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ ได้มีความรู้ทักษะวิชาชีพ นอกเหนือจากการเรียนรู้ทักษะความรู้วิชาสามัญพื้นฐาน เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้ภายหลังเรียนจบจากโรงเรียนดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวถึงเจตนารมณ์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ที่ต้องการเตรียมการเพื่อให้เด็กพิการ หรือ เด็กที่มีความต้องการพิเศษ มีทักษะพื้นฐานงานอาชีพก่อนที่จะจบการศึกษาออกไป และสามารถดำรงชีพได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ ที่สำคัญมีอาชีพติดตัว

สพฐ.โดยสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ได้ทำโครงการพัฒนาศูนย์การทำงานต่อเนื่องของสถานศึกษาและสถาบันการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ระยะที่ 2 เนื่องจากสิ่งที่พบก่อนหน้านี้ แม้เราจะฝึกให้เด็กมีทักษะอาชีพติดตัวแล้ว แต่เมื่อเด็กเรียนจบ ก็พบว่า เด็กไม่รู้ว่าจะต้องไปทำงานอะไร ที่ไหนถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการที่มีความเมตตารับเด็กพิการไปทำงานโครงการนี้ก็คงไม่ประสบความสำเร็จ และถือเป็นความโชคดีของประเทศไทย ที่มีผู้ประกอบการ ทั้งห้างร้าน โรงแรม หรือร้านอาหาร เห็นความสำคัญและเปิดโอกาสให้เด็กพิการเข้าทำงาน

วันนี้เราได้มาอยู่ที่ ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 5 จังหวัดสุพรรณบุรี  ซึ่งจัดตั้งขึ้น ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 เพื่อเป็นศูนย์ให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มและเตรียมความพร้อมเพื่อการส่งต่อพัฒนาศักยภาพเบื้องต้นให้กับผู้พิการ เป็นศูนย์ข้อมูลสารสนเทศประสานการจัดการเรียนร่วม ฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร เป็นศูนย์วิชาการเพื่อการวิจัยและพัฒนา จัดให้บริการสำหรับผู้พิการทุกประเภทในพื้นที่เขตการศึกษา 5 ได้แก่ จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ และสุพรรณบุรี เนื่องจาก ปี พ.ศ.2542 รัฐบาลมีนโยบายที่จะขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กพิการอย่างทั่วถึง โดยขณะนั้น น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ส.ส.จังหวัดสุพรรณบุรี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการและผู้ด้อยโอกาส จึงได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษ เพื่อเป็นสถานศึกษาสำหรับให้บริการกับเด็กพิการทุกประเภท

นับถึงวันนี้เวลาล่วงมากว่า 20 ปี ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 5 จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือ ดูแล เด็กที่มีความต้องการพิเศษในพื้นที่ความรับผิดชอบตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้ง โดย นายสุวิทย์ อินต๊ะวิกุล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 5 จังหวัดสุพรรณบุรี เล่าว่า ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 5  มีบทบาทหลัก 2 ลักษณะ  คือ  1 จัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรือ เด็กพิการ  และ  2 การส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษาให้คนพิการ เพราะเรามีความเชื่อว่าการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ และเด็กทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมนั้น ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วม เพราะเรามองเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล เพราะคนพิการแต่ละคนมีความต้องการจำเป็นพิเศษที่แตกต่างกัน รูปแบบการจัดการศึกษาก็ต้องแตกต่างกัน เพื่อสนองตอบความต้องการของแต่ละคน ขณะเดียวกันยังต้องมองศักยภาพของแต่ละหน่วยงาน หรือองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนพิการที่แต่ละองค์กรก็มีความแตกต่างกันในบทบาทภาระงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณสุข การพัฒนาสังคม หรือการปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะฉะนั้นเราจึงพยายามดึงจุดเด่นของแต่ละหน่วยงาน มาร่วมกันในการจัดทำแผน หรือวางแผนร่วมกันในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กพิเศษ

นอกจากนี้ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 5 ยังมีภารกิจเชิงรุกด้วย เนื่องจากบางครั้งครูผู้สอนยังขาดองค์ความรู้ในการดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพราะหลักสูตรการผลิตครูที่ผ่านมาไม่ได้ใส่เรื่องของเด็กที่มีความต้องการพิเศษไว้  เพราะฉะนั้นจึงเป็นต้องส่งครูจากศูนย์การศึกษาพิเศษ โดยความร่วมมือมือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) และศึกษานิเทศก์ ไปให้คำแนะนำแก่ครูในโรงเรียน เพื่อจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลให้แก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ รวมถึงให้คำแนะนำแก่ครูในเรื่องการจัดทำสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อนำมาใช้กับเด็กแต่ละคนได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการจำเป็นของเขา

ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 5 ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักมาเป็นแนวทางในการจัดการศึกษาให้แก่เด็ก เพราะเราเชื่อว่าหลักนี้เป็นศาสตร์ที่เป็นสากล มีคนทดลองและพิสูจน์ แล้วว่า สามารถใช้ได้จริง การดูแลจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ทางศูนย์ได้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครองแล้วมีความเห็นร่วมกันว่า การจะพัฒนาคนคนหนึ่งให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขเฉกเช่นบุคคลทั่วไป นั้น จะต้องมีการวางแผนว่าจะพัฒนาเขาอย่างไร โดยเราต้องคิดและวิเคราะห์ ถ้าเด็กจะอยู่ในสังคมได้ เช้าเมื่อตื่นมาเขาต้องทำอะไรบ้าง กลางวันต้องทำอะไร ก่อนเข้านอนต้องทำอะไร แล้วนำกิจกรรมที่วิเคราะห์ออกมาได้ มาทำเป็นหลักสูตร แผนการจัดการศึกษาให้แก่เด็ก โดยการสร้างพัฒนาการให้กับเด็กกลุ่มนี้ เราจะเน้นไปที่ทักษะชีวิต เน้นกระบวนการสอนให้เขาสามารถอยู่ในสังคมได้ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือ ทักษะอาชีพ เพื่อให้เด็กเหล่านี้มีอาชีพติดตัวสามารถดูแลตัวเองและยังชีพได้ ตามนโยบายของ สพฐ.

“อย่างไรก็ตามเมื่อทำงานมาได้ระยะหนึ่ง ทำให้พบปัญหาว่า ผู้ปกครองบางส่วนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ครอบครัวมีฐานะยากจน และเด็กมีความพิการในระดับที่รุนแรง เขาไม่สามารถมารับบริการที่ศูนย์ได้ เราจึงร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และหลายหน่วยงานคิดกิจกรรมขึ้นมา คือ ‘การปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู’ โดย ทางศูนย์จะส่งครูและพี่เลี้ยงลงไปในชุมชนไปคุยกับผู้ปกครองแต่ละครอบครัว ชักชวนให้ช่วยกันพัฒนาลูก โดยเรามีทั้งนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยาคลินิก และพี่เลี้ยงลงไปร่วมกับผู้ปกครองจัดทำแผนการจัดการศึกษาให้แก่เด็ก โดยจะมีการวางแผนว่า ในแต่ละวันผู้ปกครองจะต้องฝึกลูกอะไรบ้าง ในแต่ละสัปดาห์ต้องฝึกอะไร โดยทางศูนย์จะส่งคุณครูลงไปช่วยกระตุ้นและประเมินศักยภาพ ว่า เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นหรือไม่ หากมีพัฒนาดีขึ้นก็จะมาวางแผนขั้นต่อไปว่า จะฝึกอะไรต่อ เท่ากับว่า มีการปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านและให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเพื่อทำหน้าที่เป็นครูสอนลูกตัวเอง”ผอ.สุวิทย์กล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 5 จังหวัดสุพรรณบุรี ยังมีการจัดตั้งหน่วยบริการ หรือ สาขาในระดับอำเภอ เพื่อลงไปให้บริการถึงพื้นที่ เนื่องจากพบว่า ยังมีคนพิการที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลอีกส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถมารับบริการที่ศูนย์ได้ จึงเกิดความคิดว่า นอกจากกิจกรรมปรับบ้านเป็นห้องเรียนแล้ว จะมีกิจกรรมใดบ้างที่สามารถนำคนพิการในชุมชนมารวมกลุ่มกันได้ แล้วเอาครูของศูนย์ไปประจำ จึงเกิดความคิดทำเป็นหน่วยบริการ หรือ เป็นสาขาของศูนย์ประจำอำเภอ ซึ่งปัจจุบันมีแล้ว 6 หน่วยบริการ ทำหน้าที่ให้บริการฟื้นฟูเด็กพิการในชุมชน ซึ่งในแต่ละวันจะมีพ่อแม่ผู้ปกครอง นำบุตรหลานมารับบริการ โดยที่หน่วยบริการจะมีทั้งครู พี่เลี้ยงประจำหน่วยให้บริการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาที่ศูนย์ และยังสามารถเดินทางมาได้ทุกวันด้วย แต่ถ้าต้องให้เดินทางไปที่ศูนย์เชื่อได้ว่าสัปดาห์หนึ่งอาจมาได้แค่วันเดียวเท่านั้น

และนี่คืออีกสถานศึกษาที่ทำงานเชิงรุก เป็นที่พึ่งสำหรับเด็กพิการ หรือ เด็กที่มีความต้องการพิเศษได้อย่างแท้จริง “ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 5 จังหวัดสุพรรณบุรี

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments