เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พล.ท.โกศล  ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า  เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้รับการโทรศัพท์แจ้งเบาะแสว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นอีก ในภาคอีสาน 2-3  จังหวัด เริ่มมีการเรียนรับเงิน ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปี 2561 ซึ่งกำลังจะเริ่มรับสมัครในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้  ส่วนจะเป็นจังหวัดใดตนไม่ยังไม่ขอบอก ขอตรวจสอบรายละเอียดก่อน แต่ทราบว่า ผู้สมัครบางรายเสียเงินไปแล้วครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 1 แสนบาท สำหรับผู้ที่เรียกรับเงิน  เป็นระดับที่มีอำนาจ ที่สามารถชี้ได้ว่า ใครจะได้หรือไม่ได้ ในพื้นที่ ซึ่งคิดว่าน่าจะทำเป็นกระบวนการ

     พล.ท.โกศล กล่าวต่อไปว่า คนที่โทรมาให้ข้อมูลบอกถึงขั้นว่า ให้คอยจับตารายชื่อ  ว่า คนนี้จะสอบผ่านและได้ขึ้นบัญชีครูผู้ช่วย อย่างแน่นอน เพราะมีการเรียกรับเงิน จำนวน 2 แสนบาท เพื่อให้สอบผ่าน และตอนนี้บางรายจ่ายไปแล้วครึ่งหนึ่ง ตรงนี้ก็จะให้คนในพื้นที่ตรวจสอบ ถ้ามีจริงก็ต้องจัดการ   ทั้งนี้ภาคอีกสานมีการทุจริตค่อนข้างมาก ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจในกระบวนการต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การสอบครูผู้ช่วย ผู้ที่อยู่ในอีสานส่วนใหญ่ จะไม่สอบในพื้นที่ จะไปสมัครสอบนอกพื้นที่เกือบทั้งหมด เพราะรู้ว่า ถ้าสอบในพื้นที่จะต้องเสียงเงิน ถึงจะได้

     ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า  ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรืออควาเรียมหอยสังข์ ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)นั้น ล่าสุดนายการุณ  สกุลประดิษฐ์  ปลัดศธ.  ประธานคณะคณะกรรม  ได้นำสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง การก่อสร้างอควาเรียม ระยะแรก วงเงิน 835 ล้านบาท ซึ่งนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ สั่งให้ตรวจสอบเพิ่มเติม มาให้ตนพิจารณาแล้วและได้มีการประชุมร่วมกับฝ่ายกฎหมาย ซึ่ง ทางฝ่ายกฎหมายยังมีข้อท้วงติง ว่าเนื้อหารายละเอียดยังไม่ครอบคลุม  ไม่มีการชี้มูล ว่าการดำเนินการดังกล่าว  ผิดหรือไม่ผิดอย่างไร ทำให้ราชการเสียประโยชน์หรือไม่ และมีบุคคลใดที่ทำให้ราชการเสียประโยชน์ และกระทำการผิดต่อกฎระเบียบข้อบังคับใดบ้าง ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบฯ รับปากว่าจะสรุปเพิ่มให้เสร็จภายในวันที่ 29 มิถุนายน  ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้รายงานให้รมว.ศึกษาธิการทราบแล้ว แต่ขอเวลาสรุปรายละเอียดทั้งหมดถึงวันที่ 2 กรกฎาคม ก่อนเสนอให้พิจารณาว่า  จะสอบวินัยรายแรง หรือไม่ร้ายแรงใครบ้าง

     “ตอนนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า มีการดำเนินการที่ผิดระเบียบ ข้าราชการเสียเปรียบทุกประเด็น เพียงแต่ว่ามีการโยงใยถึงใครบ้างที่รับผิดชอบในแต่ละช่วง เช่น คณะกรรมการควบคุมงาน คณะกรรมการตรวจรับ ผู้ลงนามในคำสั่งสัญญาต่าง  ๆ ซึ่งต้องมีผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นใจคณะกรรมการตรวจสอบฯ เพราะเรื่องต่าง ๆ ผ่านมานานถึง 10 ปีแล้ว เอกสารรายละเอียดต่าง ๆ ขอได้ไม่ง่ายนัก แต่จากข้อมูลเบื้องต้นโยงใยไปถึงข้าราชการทุกระดับ ทั้งอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ซึ่งมีประมาณ 3 ราย ที่อยู่ในช่วงเวลาการแก้ไขแบบก่อสร้าง  เจ้าหน้าที่ รวมถึงกรรมการควบคุมงาน  สำหรับอดีตเลขาธิการกอศ. ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว 2 รายนั้น  คงไม่สามารถดำเนินการทางวินัยได้ แต่ทางอาญา ให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบว่า สามารถดำเนินการได้หรือไม่ ส่วนอีก 1 ราย ที่ยังอยู่ในราชการนั้น คงยังไม่สามารถชี้ได้ตอนนี้ว่าเป็นวินัยร้ายแรงหรือไม่  ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนพ.ธีระเกียรติ พล.ท.โกศล กล่าวและว่า ยอมรับว่าเรื่องนี้น่าเห็นใจคณะกรรมการฯเพราะเอกสารสรุปเรื่องมาถึงตนมีประมาณ 30 หน้า นอกจากนี้ยังมีเอกสารจากการสอบปากคำผู้เกี่ยวข้อง อีกหลายลัง  เรื่องนี้มีระดับเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ลงนามในการแก้ไขสัญญา  อดีตเลขาธิการกอศ. กรรมการผู้ควบคุมงาน กรรมการตรวจรับงาน  ทั้งนี้กรรมการทั้งสองชุดต่อมามีการเปลี่ยนตัว โดยชุดแรกยืนยันไม่ให้มีการแก้ไขสัญญา แต่ชุดที่สอง มีการแก้ไขงวดงานถึง 6 ครั้ง เรื่องนี้ภายในสัปดาห์หน้าต้องจบ

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments