พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามกลไกประชารัฐ ครั้งที่ 5/2561 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนงานและโครงการที่สำคัญในรอบ 6 เดือน (เมษายน-กันยายน 2561) พร้อมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากผู้นำศาสนา ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ณ ห้องประชุมศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

     พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การประชุมนี้เกิดจากแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้  ทุกภาคส่วนได้ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ พร้อมประสานงานกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ตาม “กลไกประชารัฐ” ตลอดจนมอบหมายให้หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลและผู้แทนพิเศษของรัฐบาลอีก 12 คน ทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงการทำงานไปยังคณะรัฐมนตรีและการบริหารราชการส่วนกลาง เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาและประสานงานให้เกิดความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นสังคมสันติสุขและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งความก้าวหน้าการปฏิบัติภารกิจตามบทบาทหน้าที่ของกลุ่มภารกิจของคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลทั้ง 7 กลุ่ม ในรอบ 6 เดือน (เมษายน-กันยายน 2561) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มงานสำคัญ ดังนี้ 1) งานการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้ดำเนินงานที่สำคัญในหลายโครงการ เช่น การจัดทำหลักสูตรแกนกลางของสถาบันศึกษาปอเนาะ ในการจัดทำร่างหลักสูตรอิสลามศึกษา เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนในสถาบันศึกษาปอเนาะให้มีคุณภาพมาตรฐาน ผู้เรียนได้รับวุฒิการศึกษาเพื่อใช้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ตลอดจนช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพการสอนของโต๊ะครู ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและเหมาะสมกับสภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยได้จัดพิธีมอบหลักสูตรแกนกลางแก่สถาบันศึกษาปอเนาะใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมอบรมชี้แจงแนวทางการใช้หลักสูตรแกนกลาง เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

– การแก้ปัญหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา ได้ดำเนินการค้นหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีอยู่จำนวน 45,289 คน จากจำนวนประชากรวัยเรียน (3-18 ปี) ทั้งหมด 730,727 คน เพื่อดึงกลับเข้ามาในระบบการศึกษา โดยสามารถดึงเด็กกลับมาเรียนได้จำนวน 25,093 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กพิการและเด็กที่จบชั้น ม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อ มากที่สุด และสามารถแบ่งออกเป็นรายจังหวัดได้ดังนี้ สงขลา 2,809 คน, สตูล 2,448 คน, ปัตตานี 6,082 คน, ยะลา 5,203 คน และนราธิวาส 8,551 คน

– ทุนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 19,903 ทุนภายใต้การดำเนินโครงการหลัก 5 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4,634 คน 2) ทุนโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 1,314 ทุน 3) ทุนโครงการภูมิทายาท 13,401 ทุน 4) ทุนโครงการโรงเรียนอุปถัมภ์ (ครอบครัวอุปถัมภ์) ปีการศึกษา 2561 จำนวน 154 ทุน และ 5) ทุนโครงการอาชีวศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีการศึกษา 2561 จำนวน 400 ทุน

– โครงการเสริมสร้างชุมชนชาวพุทธเข้มแข้ง ได้มีการพบปะ ให้กำลังใจ พร้อมประชุมหารือร่วมกับอาสารักษาหมู่บ้าน (อรบ.) เพื่อรับฟังความคิดเห็นและรับทราบปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านชุมชนไทยพุทธ

– โครงการเพิ่มอัตราเจ้าหน้าที่วัฒนธรรมอำเภอและเจ้าหน้าที่พระพุทธศาสนาอำเภอ โดยได้ขอเพิ่มอัตราเจ้าหน้าที่วัฒนธรรมอำเภอและเจ้าหน้าที่พระพุทธศาสนาอำเภอ จำนวน 74 คนใน 37 อำเภอ
– โครงการวัฒนธรรมเชื่อมชายแดนใต้สันติสุข หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้จัดกิจกรรมทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรม เพื่อสนับสนุนการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ โครงเสริมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม โครงการถนนสายวัฒนธรรม โครงการวิถีถิ่นตานีวิถีอาเซียน งานแสดงสินค้าวัฒนธรรมของดีเมืองตานี และงานกาชาดจังหวัดปัตตานี ประจำปี 2561 เป็นต้น

– การเดินสำรวจที่ดินเพื่อแก้ปัญหาที่ดินทำกินและคุณภาพชีวิตประชาชน โดยได้สำรวจที่ดินและรับรองสิทธิ์ในการทำกินของประชาชนครอบคลุม 9 อำเภอ ในปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พร้อมดำเนินโครงการส่งเสริมด้านอาชีพเพื่อพัฒนาประชาชนในหมู่บ้านต่าง ๆ พร้อมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
2) งานความมั่นคง โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ การจัดเวทีชาวบ้านในโครงการชุมชนศรัทธากัมปงตักวา ใน 1,800 หมู่บ้าน พร้อมจัดวิทยากรบรรยายสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง, การจัดชุดคุ้มครองตำบล จำนวน 60 ชุด เพื่อลงปฏิบัติงานใน 60 ตำบล โดยใช้ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของประชาชน, การป้องกันและบำบัดยาเสพติดให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสร้างจิตอาสาในหมู่บ้านเป้าหมาย, การดำเนินโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เปิดโลกทัศน์และได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม
3) งานเผยแพร่และสร้างความเข้าใจ โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ การสร้างความเข้าใจในนโยบายของรัฐบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ที่ยึดหลักกฎหมายตามแนวทางสันติวิธีและการเคารพสิทธิมนุษยชน ตลอดจนหลักความโปร่งใส, การจัดพิธีมอบบันทึกความเข้าใจในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการของมหาวิทยาลัย วิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรมและการพัฒนามนุษย์ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในการขับเคลื่อนกิจกรรมพัฒนาเพื่อการเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม ระดับอุดมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา โดยความร่วมมือร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย 5 แห่ง สถานศึกษาอาชีวศึกษา 18 แห่งในสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 3 ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและสถานศึกษาในพื้นที่, การสร้างความรู้ความเข้าใจกับองค์กรพัฒนาเอกชน (Non-Governmental Organisations: NGOs) และองค์การภาคเอกชนระหว่างประเทศ (International Governmental Organisations: IGOs) เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล การดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อขยายผลสู่ความร่วมมือในการเผยแพร่ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่จะสร้างผลดีแก่พื้นที่ สู่สาธารณชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งล่าสุดในการประชุมองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of the Islamic Cooperation) หรือ OIC เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ได้แสดงความชื่นชมประเทศไทยที่ให้การส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตามวิถีชีวิตของชาวมุสลิมเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการหารือร่วมกันถึงข้อมูลสุขภาวะอนามัยของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อดูแล ป้องกัน และแก้ไขปัญหาสุขภาวะอนามัยของประชากรในพื้นที่ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา อาทิ ทันตกรรม สภาวะโลหิตจาง ทุพโภชนาการ สุขภาวะของเด็กแรกเกิด ยาเสพติด การดูแลรักษาสุขภาพเพื่อการป้องกันโรคต่าง ๆ เป็นต้น

พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า ในเดือนมหามงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 66 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2561 ขอเชิญชวนให้ช่วยกันรณรงค์การทำความดีตลอดเดือนมหามงคลนี้พร้อมกับประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ โดยการน้อมนำศาสตร์พระราชา ยุทธศาสตร์พระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นหลักชัยในการดำเนินงาน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงสืบสานพระบรมราชปณิธาน และทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาทพระราชบิดา ต่อจากนั้นขอให้ร่วมกันจัดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา ในวันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม 2561 ซึ่งพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างหาที่สุดมิได้

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments