เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.64 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ  เป็นประธานการประชุมอาชีวศึกษาเกษตรอัจฉริยะ “Agritronics @ Rcheewa” ผ่านระบบ webex แบบออนไลน์ ความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อพัฒนาครู และบุคลากร ของอาชีวศึกษาเกษตร ตอบสนองต่อการผลิตและพัฒนากำลังคนเกษตรของประเทศไทย โดยดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า  “เกษตรอัจฉริยะ” เป็นหนึ่งในประเด็นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย โดยสถานการณ์โลกปัจจุบัน ประเทศไทยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายบริบททั้งที่เป็นโอกาสและข้อจำกัดต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานทางด้านการศึกษา วิจัยและนวัตกรรม ต้องมีการเตรียมความพร้อมของคนและสร้างระบบให้มีภูมิคุ้มกัน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งประชากรในประเทศไทยทำงานในภาคเกษตรกว่า 27 ล้านคน คิดเป็นประชากรกว่า 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ในการพัฒนาทักษะการเกษตรของเยาวชนอาชีวศึกษาเกษตรกรรุ่นใหม่ จำเป็นต้องพัฒนาไปในเชิงเกษตรอุตสาหกรรม และปรับเปลี่ยนรูปแบบของการทำการเกษตร มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตที่หลากหลาย

“เกษตรอัจฉริยะ “Agritronics @ Rcheewa” จะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรม ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ Handy Sense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ ผนวกเทคโนโลยีเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อมทางการเกษตร และระบบควบคุมการทำงานอัตโนมัติ ที่ได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ที่สามารถลดต้นทุนการผลิต ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สู่การเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต เพื่อพัฒนาครู และบุคลากรอาชีวศึกษาเกษตรได้”รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

    ด้านดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) กล่าวว่า กิจกรรมอาชีวศึกษาเกษตรอัจฉริยะ “Agritronics@R Cheewa” เป็นการดำเนินการต่อเนื่องภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่ได้พัฒนาศักยภาพผู้สอนให้ได้รับความรู้ด้านการใช้ชุดสื่อ การเรียน การสอนโปรแกรมมิ่ง ซึ่งจะสามารถนำไปถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาทักษะผู้เรียนอาชีวศึกษา ให้มีทักษะกระบวนการคิด สู่การเป็น นวัตกรรมวิชาชีพ และพัฒนาครูเกษตรเบื้องต้นผ่านระบบออนไลน์ ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ให้กับสถานศึกษาประเภทวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีประมง วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ที่ได้สมัครเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 23 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะนำไปขยายผลต่อนักศึกษาและเกษตรกรในพื้นที่ที่จะได้รับความรู้ต่อไป แห่งละประมาณ 200 คน รวมประมาณ 4,600 คน โดยผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับความรู้จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ในด้านการใช้เทคโนโลยีระบบเซนเซอร์ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการฟาร์มอัจฉริยะ

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า สอศ. มีนโยบายให้สถานศึกษาเกษตรและประมงค้นหาความเป็นเลิศ (Excellence) เพื่อสร้างงานฟาร์มเชิงธุรกิจหนึ่งฟาร์ม ต่อหนึ่งวิทยาลัยเกษตรและประมง พัฒนาสถานศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สามารถฝึกประสบการณ์วิชาชีพควบคู่กับการบริหารในเชิงธุรกิจ ให้กับผู้เรียนและให้บริการเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น และมีการประยุกต์การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อเป็นการพัฒนาการศึกษาด้านการเกษตรให้มีคุณภาพ และทันต่อสถานการณ์

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments