เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2564 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวในงานแถลงจุดยืนลดภาระทางการศึกษา ช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการลดภาระทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าใจถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เป็นอย่างดี และต้องยอมรับว่าการจัดการศึกษาในปัจจุบันเราได้รับผลกระทบ 100% เพราะเด็กไม่สามารถมาเรียนที่โรงเรียนได้ ดังนั้นก็คงไม่พ้นต้องเรียนที่บ้าน และตอนนี้ สพฐ.ก็ต้องเปลี่ยนบ้านเป็นสถานศึกษา โดยเราได้มีรูปแบบในการจัดการเรียนการสอนหลายรูปแบบรองรับไว้แล้ว และอายุของเด็กก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง สภาพแวดล้อม ผู้ปกครองก็มีส่วนประกอบทั้งสิ้น ดังนั้นเพื่อผ่อนคลายความเครียดหรือความเป็นอยู่เราจึงได้ออกแบบจัดการศึกษาโดยคำนึงถึงสภาพของนักเรียนเป็นกลุ่ม ๆ คือ กลุ่มที่ไม่มีไฟฟ้า อินเตอร์เน็ตเข้าไม่ถึง เราก็จัดในลักษณะเอาชุดการเรียนไปให้ หรือแบบรายงาน แบบฝึกหัด กลุ่มที่มีไฟฟ้าแต่ไม่มีอินเตอร์เน็ต แต่มี TV เราก็จัดให้มีการเรียนทางไกล ผ่านระบบDLTV ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งมีตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมปีที่3 และกลุ่มที่มีอินเตอร์เน็ต มีไฟฟ้า มีครบทุกอย่าง ก็ให้เรียนออนไลน์และเรียนออนดีมาน สรุปก็คือเด็กทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะแบบไหนทุกคนต้องได้เรียน

“ตอนนี้เด็กเล็กก็จะเป็นภาระของผู้ปกครอง ซึ่งจะต้องทำหน้าที่แทนครู ดังนั้นเราต้องฝึกให้พ่อ แม่มาเป็นครูคนที่สอง ซึ่งก็เป็นภาระของผู้ปกครองนักเรียนที่มีบุตรหลานที่เป็นเด็กเล็ก ครูก็จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ปกครอง และสพฐ ก็ต้องลงไปดูว่า เขายังขาดอะไร และตอนนี้ สพฐ.กำลังมีการปรับแก้ระเบียบในการใช้เงินอุดหนุนที่สามารถนำไปใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอนเบื้องต้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ปกครองได้ ส่วนเด็กโตทำอย่างไร เราจะส่งเสริมการศึกษาที่เกิดขึ้นโดยการเรียนรู้ภายในของนักเรียนเป็นหลัก ถ้านักเรียนมีความรับผิดชอบ มีระเบียบมีวินัยก็ต้องไปสู่เป้าหมาย”ดร.อัมพร กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือเราห่วงนักเรียน ถ้าให้เขาเรียน 8 กลุ่มสาระเหมือนเดิม ตอนนี้คงเป็นไปไม่ได้ จะต้องมีการปรับตารางเรียนใหม่เช้าเรียนวิชาการ บ่ายเรียนปฏิบัติหรือประเมินนักเรียนจากการทำกิจกรรมแทนการจัดการความรู้ได้หรือไม่  กำหนดเป้าหมายจุดประสงค์เท่าที่จำเป็น  มีการเรียนที่ยืดหยุ่นอยู่ที่ไหนก็เรียนได้ เป็นต้น เพื่อไม่ให้นักเรียนเครียดให้นักเรียนเรียนอย่างมีความสุขและสนุกกับการเรียนที่บ้าน

นอกจากนี้ เลขาธิการ กพฐ.ยังกล่าวถึง มาตรการ การจ่ายเงิน “เยียวยานักเรียน” ทุกคนทุกสังกัด คนละ 2,000 บาท โดยผู้ปกครองรับเงินเต็มจำนวน ต่อนักเรียน 1 คน ว่า ตอนนี้ สพฐ.ได้สำรวจข้อมูลเตรียมจ่ายเงินให้ผู้ปกครองไว้เรียบร้อยแล้ว เงินโอนมาที่กระทรวงศึกษาธิการเมื่อไหร่ก็กดปุ่มจ่ายได้ทันที โดยสพฐ.จะโอนเงินเข้าบัญชีผู้ปกครองโดยตรงผ่านเขตพื้นที่การศึกษาที่รับผิดชอบโรงเรียนแต่ละเขต ซึ่งจะเกิดความรวดเร็วและถึงตัวผู้ปกครองโดยตรง เว้นแต่กรณีที่นักเรียนหรือผู้ปกครองไม่มีบัญชีฝากเงิน หรือด้วยเหตุผลที่ว่าเด็กไม่มีสัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชน ก็ให้โรงเรียนจ่ายผู้ปกครองโดยตรง

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments