เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2564 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)กล่าวในงานแถลงจุดยืนลดภาระทางการศึกษา ช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการลดภาระทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)เข้าใจถึงปัญหาและอุปสรรค ในการจัดการเรียนการสอน ภายใต้สถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด -19 จึงได้มอบนโยบายให้กับสถานศึกษาในสังกัด สอศ.ในการปรับลด ภาระการเรียน แต่ขอให้คงคุณภาพการเรียน การสอนไว้ ซึ่ง สอศ.ได้ตีกรอบในการดำเนินการ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มของนักเรียน ครู ผู้ปกครองและสถานศึกษา ที่จะเข้าไปดูแล ซึ่งผู้เรียนสายอาชีวศึกษาจะเน้นในเรื่องของสมรรถนะนักเรียนเป็นหลัก และต้องมีการฝึกปฏิบัติ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด -19 ก็ต้องมีการปรับตัวในเรื่องของกระบวนการจัดการเรียนการสอนว่าทำอย่างไร เราจะจัดการเรียนการสอนในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 ไม่ให้เกิดคุณภาพการศึกษาลดลง
เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ สอศ.ได้จัดการเรียนรู้ใน 3 รูปแบบ คือ ออนไลน์ ออนไซด์ และแบบผสมผสาน ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาจะมีสมาร์ทโฟน 97% ส่วนที่ไม่มีสมาทโฟนก็เข้ามาเรียนออนไซด์ในสถานศึกษา ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก อย่างไรก็ตามเนื่องจากว่าสถานการณ์บางจังหวัดที่ประกาศให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้มข้น ไม่สามารถเรียนออนไซด์ได้ต้องเรียนแบบออนไลน์เท่านั้น ซึ่งในเรื่องของการฝึกปฏิบัติอาจมีปัญหา ส่วนนี้ สอศ.ได้ประชุมหารือกับบอร์ดอาชีวศึกษาและได้เห็นชอบตรงกันว่าเราจะปรับเรื่องกระบวนการจัดการเรียนการสอนวัดผลประเมินผล ซึ่งเดิมจะมีการวัดผลประเมินผลในหนึ่งภาคเรียนเลย ให้มีการขยับขยายระยะเวลาในการวัดผลประเมินผลเป็นหนึ่งปีการศึกษาแทน ดังนั้นในช่วงนี้จึงปรับให้นำทฤษฎีมาเรียนก่อนหลังจากนั้นภาคเรียนต่อไปถ้าหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงเราก็จะเรียนแบบออนไซด์ ซึ่งจะสามารถแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติ ให้เด็กได้มีสมรรถนะตรงตามวัตถุประสงค์ และเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้อย่างครบถ้วน
“อีกกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหาในเรื่องของการจัดการศึกษาอยู่ก็คือนักเรียน นักศึกษาที่เรียนรูปแบบทวิภาคี และนักเรียน นักศึกษาที่ฝึกงานในสถานประกอบการ ช่วงนี้สอศ.จึงได้ทำข้อตกลงกันว่าจะต้อง ยินยอมพร้อมใจทั้ง 3 ฝ่าย คือสถานประกอบการ ต้องมีมาตรการในการควบคุม โควิด-19 ที่เข้มข้น 2 ผู้ปกครองยินยอมที่จะให้บุตรหลานไปเรียนในสถานประกอบการ และ 3 ตัวผู้เรียนต้องสมัครใจจะเรียนในสถานประกอบการ แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คัดค้าน ก็ให้สถานศึกษาจัดสถานการณ์จำลองในจังหวัดของตนเอง หรือปรับรูปแบบแทนที่จะไปเรียนในรูปแบบของทวิภาคี ก็ให้ปรับมาเป็นรูปแบบปกติเหมือนเด็กเรียนปกติทั่วไปเพื่อให้เด็กได้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรที่กำหนดไว้”ดร.สุเทพ กล่าวและว่า อีกรอบหนึ่งที่เจอปัญหาคือเรื่องของผู้เรียนที่ไปฝึกงานในสถานประกอบการและติดโควิด หรือถูกกักตัว 14 วันทำให้มีปัญหาในเรื่องของการจัดการเรียนการสอน โดยเรื่องนี้สอศ.ด้ซักซ้อมไปยังสถานศึกษาให้จัดแผนการเรียนการสอนเฉพาะรายบุคคลให้กับเด็กกลุ่มนี้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรในส่วนของครูก็เช่นกันเราก็ลดในเรื่องของการประเมิน ให้เหลือแต่การจัดการเรียนการสอนการวิเคราะห์เนื้อหาที่ควรรู้ที่จะนำมาสอนเด็ก ส่วนผู้ปกครอง ขณะนี้ สถานศึกษาทั้งรัฐและเอกชนพร้อมใจกันที่จะคืนเงินอุดหนุน หรือค่าเทอมให้ โดยขณะนี้สอศ.ได้คืนเงินให้ผู้ปกครองไปแล้วกว่า 500 ล้านบาทแล้ว