ที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยภายหลังจาก เป็นประธาน ประชุมหน่วยงานที่จัดส่งข้อมูลของนักเรียนเข้าสู่ระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2562 (ทีแคส)จากการประชุมร่วมกับประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งได้มีการถอดบทเรียนทั้งหมดจากการประชาพิจารณ์ และรวมรวบประเด็นปัญหาของทีแคสปี 61 มาแก้ไข แต่ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของนักเรียนเป็นหลัก เพราะระบบทีแคส เป็นระบบที่ดี อย่างไรก็ตามตนได้สั่งการให้ ศธ. จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยเบื้องต้นศูนย์ข้อมูลฯจะมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหลักในการดูแล

     “ศูนย์ข้อมูลฯ จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลนักเรียนที่กำลังเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า เพื่อไม่ให้เป็นภาระของโรงเรียนมานั่งประมวลจัดพิมพ์แบบฟอร์ม โดยการประมวลผลจะทำที่ส่วนกลางทั้งหมด  เพื่อความยุติธรรมในเรื่องคะแนน เช่น GPAX ที่เป็นผลการเรียน หรือเกรดเฉลี่ยของทุกวิชาที่เรียนมาตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า, การจัดแบบฟอร์มการจบที่ไม่เหมือนกันของแต่ละโรงเรียน ซึ่งศูนย์ข้อมูลดังกล่าวจะพัฒนาฐานข้อมูลนักเรียนทั้งหมดเพื่อประสานกับ ทปอ. โดยตรง และผู้อำนวยการโรงเรียนจะเป็นผู้รับผิดชอบในการส่งข้อมูลให้ส่วนกลาง”รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

     นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประธาน ทปอ. กล่าวว่า ทปอ. ได้ถอดบทเรียนจากปีที่ผ่านมา และยอมรับว่า ทีแคส 61 นั้น ยังประสบปัญหาด้านความเลื่อมล้ำอยู่ ซึ่งวันนี้ ทปอ. ได้เรียนรู้จากบทเรียนนี้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามเรื่องของการที่จะดูแลนักเรียนกว่าครึ่งล้านคน คงไม่มีระบบไหนที่จะสมบูรณ์ และสามารถดูแลให้ทุกคนพึงพอใจได้ทั้งหมด แต่ศธ. และทปอ. ยืนยันว่าจะมุ่งมั่นพยายามอย่างเต็มที่เพื่อนักเรียนทุกคน คือมุ่งมั่นที่จะลดความเลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาของไทย และอยากให้นักเรียน ม.6 ได้เรียนจบก่อน อย่างไรก็ตาม กระบวนการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ถือเป็นความมุ่งมั่นที่ ทปอ.จะคงต่อไป ส่วนการแก้ไขปัญหาระบบทีแคสปี 62 นายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล ประธานคณะกรรมการการพัฒนาระบบทีแคส ได้ออกแบบขั้นตอน ทีแคสปี 62 โดยจะคงไว้ 5 รอบเหมือนเดิม คือ รอบที่ 1 ดูจากแฟ้มสะสมงาน หรือพอร์ตฟอลิโอ รอบที่ 2 การรับแบบโควต้า รอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน รอบที่ 4 แอดมิสชั่นส์ และรอบที่ 5 การรับตรงแบบอิสระ

     ประธาน ทปอ. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ทีแคสปี62 จะมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของการรับนักเรียน รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน โดยรอบที่ 3จากปีที่แล้ว ให้นักเรียนเลือก 4 อันดับ โดยนักเรียนมีโอกาสติดทั้งหมด 4 อันดับ ทำให้เกิดปัญหาการกั๊กที่ขึ้นมา ดังนั้น ในการประชุมครั้งนี้ ชัดเจนแล้วว่า ต่อไปทีแคสรอบ 3 รับตรงร่วมกัน จะเป็นการเรียงคะแนน จากเลือกได้ 4 อันดับ นักเรียนจะสามารถเลือกเพิ่มเป็น 6 อันดับ ซึ่งคาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาการกั๊กที่ในรอบที่ 3 ได้ ส่วนนักเรียนในกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) ยังคงอยู่ในรอบที่ 3 เพราะไม่ว่านักเรียนที่สมัครในรอบที่ 3 จะเลือกคณะสาขาในกลุ่ม กสพท. หรือไม่เลือกเลย นักเรียนทุกคนจะเลือกได้ 6 อันดับเท่ากัน ทั้งนี้ ในการเรียงลำดับคะแนนรอบที่ 3 จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ทปอ. และมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยจะทำการเรียงลำดับของ คณะ สาขาวิชาที่ดูแล และส่งข้อมูลมายัง ทปอ. เพื่อให้ ทปอ.ดูแลการเรียงลำดับคะแนนในภาพรวม ต่อไป

     ส่วนเรื่องระยะเวลาการเปิดรับสมัคร ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งปีที่ที่ผ่านมาเวลาคัดเลือก 10 เดือนด้วยกัน คือตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2560 ถึงกรกฎาคมปี 2561 แต่ทีแคสปี 62 คาดว่าจะลดเวลาเหลือ 6 เดือนครึ่ง ซึ่งตนเชื่อว่าหากลดเวลาดำเนินการ การจัดการจะต้องดีกว่าปีที่แล้ว ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติม ทปอ.จะจัดแถลงข่าวอีกครั้งหนึ่ง

     ด้าน นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ  กล่าวว่า ศธ.และทปอ. ได้ข้อสรุปชัดเจนว่า ยังคงระบบทีแคสไว้อยู่ เพราะเป็นระบบที่ดีที่สุด ในการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์ให้ทั้งนักเรียน และมหาวิทยาลัย โดยนักเรียนสามารถเลือกที่เรียนได้ตามความต้องการของตน และมหาวิทยาลัยเองที่มีสิทธิเลือกนักเรียนให้ตรงความต้องการของมหาวิทยาลัยเช่นกัน เพียงแต่ว่าที่ผ่านมามีข้อบกพร่องทางเทคนิคบางเรื่อง แต่ขอยืนยันว่าศธ. และทปอ. จะปิดช่วงโหว่ แก้ไขปัญหานี้แน่นอน อย่างไรก็ตาม นอกจากการหารือเรื่องทีแคส แล้ว ประเด็นที่หารือร่วมกันอีกประเด็นหนึ่ง คือเรื่องข้อสอบ เพื่อที่จะตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคตและตอบสนองเป้าหมายของประเทศได้

     “ ต่อไปข้อสอบจะต้องเน้นในเรื่องของการวัดความถนัด และสมรรถนะให้มากขึ้น ขณะนี้ อยู่ในระหว่างการปรับข้อสอบ โดยต้องแยกให้ชัดเจนว่า การวัดความถนัดและสมรรถนะนั้นสำคัญที่สุด ส่วนเรื่องวิชาการ ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าไร เพราะในอนาคตความรู้ทางวิชาการอาจล้าสมัยได้ โดยสิ่งที่ศธ. กำลังจะปรับ เช่น ข้อสอบความถนัดทั่วไปหรือ (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) ซึ่งที่ประชุมวิเคราะห์แล้วว่าข้อสอบเหล่านี้ไม่ตอบโจทย์ความต้องการทั้งหมดจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนใหม่” นพ. อุดม กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ตนเห็นใจ ทอป. อย่างมากที่รับทำงานตรงนี้ เนื่องจากทปอ. ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่มีการรองรับทางกฎหมาย การติดต่อประสานข้อข้อมูลจากหน่วยงานอื่นทำได้อย่างจำกัด และการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในอุดมศึกษาเป็นงานที่ใหญ่มาก ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ มีนโยบายว่า ต่อไปกระทรวงอุดมศึกษาฯ ที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ ต้องรับดูแลเรื่องการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาในอุดมศึกษามาเป็นงานถาวร เนื่องจากงานนี้เป็นงานใหญ่ และมีหลายกระทรวงที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องมีหน่วยงานที่เป็นดูแลอย่างจริงจัง

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments