เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.)เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการติดตามตรวจสอบและประเมินการจัดการศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำกลไกการตรวจราชการ และการติดตามประเมินผล มาใช้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษา ซึ่งได้เน้นย้ำที่ประชุม 2 เรื่อง คือ ต้องทำให้กลไกการตรวจติดตามเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยปรับเปลี่ยนระยะเวลาการประชุมคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบและประเมิน ทุก 3 เดือน เพื่อติดตามงานให้รวดเร็วขึ้น หากพบปัญหาหรือเรื่องเฉพาะกิจใดๆ ให้รายงาน และติดตามเรื่องอยู่เสมอ ส่วนเนื้อหาที่ใช้ในการรายงานติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล ต้องสั้น กระชับ เน้นการนำเสนอโดยให้ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนา มากกว่านำเสนอปัญหาเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ที่ประชุมนำเทคโนโลยี ดิจิทัล มาใช้ในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล ดังนั้นต่อไปการรายงานเรื่องต่างๆ ไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารอีกต่อไป และอีกเรื่อง คือการเน้นย้ำข้อตรวจราชการ และการประเมินผล ขอให้ตรวจตามนโยบาย 12 เรื่องหลัก เช่น การสอนแบบ Active Learning การสอนประวัติศาสตร์ การเรียนระบบทวิภาคี การศึกษาปฐมวัย วิทยฐานะ การเรียนการสอนในยุคโควิด-19 การเรียนรู้ตลอดชีวิต การอัพสกิล รีสกิล เป็นต้น

น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อไปว่า  นอกจากนี้ที่ประชุมยังหารือถึงการทำงาน โดยให้ปรับโครงสร้างตรวจราชการ ติดตามและประเมินผลใหม่ โดยให้แยกออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1. จะมีคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลฯ เป็นหลัก โดยมีสำนักตรวจราชการและติดตามประเมินผล สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ  ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ระดับที่  2 . เป็นการตรวจราชการ องค์กรหลักและหน่วยงานใน ศธ.จะเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)เป็นต้น ให้เน้นการตรวจราชการรูปแบบปฏิบัติงาน การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และ ระดับที่ 3 คือระดับพื้นที่ มีหน่วยงานรับผิดชอบ เช่น ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ศึกษาธิการภาค (ศธจ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นต้น มาทำตามติดตาม ตรวจสอบในระดับพื้นที่

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมหารือร่วมกันแล้วเห็นว่าในส่วนกลางควรจะมีกลไกเพื่อเชื่อมการทำงานในระดับต่างๆ และให้คณะทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และสร้างความสามัคคีปรองดอง กระทรวงศึกษาธิการ (ป.ย.ป.ศธ.) เป็นผู้เชื่อมการทำงานทุกระดับ ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ.จัดทำโครงสร้างการติดตาม ตรวจสอบ เพื่อให้การประเมินผลของศธ. เป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments