สกศ. ล่องใต้ถกภาคีการศึกษา-สภาอุตสาหกรรมภูเก็ต เดินหน้าสังเคราะห์สเปคเด็ก “ตงห่อ” ตอบโจทย์ธุรกิจท่องเที่ยว-บริการ รองรับ ประเทศไทย 4.0

วันที่ 27 สิงหาคม 2561 ที่โรงแรมเพิร์ล จังหวัดภูเก็ต ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นประธานเปิดโครงการประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนตามอัตลักษณ์ ความต้องการ และภูมิสังคม : ภาคใต้ โดยมี นายกเทศบาลนครภูเก็ต ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ผู้แทนศึกษาธิการภาค (ศธภ.) สำนักพื้นที่การศึกษาประถมและมัธยม (สพป./สพม.) ผู้บริหารสถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด ผู้ประกอบการด้านเกษตรอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว การค้า และบริการ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

โดย ดร.ชัยยศ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. มีหน้าที่จัดทำข้อเสนอนโยบายการศึกษา ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อระบบการศึกษา และทางคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เตรียมข้อมูลเสนอแนวทางปฏิรูปการศึกษาต่อรัฐบาลในต้นเดือนกันยายนนี้ ดังนั้น การยกระดับการศึกษาและการผลิตกำลังคนในแต่ละพื้นที่จึงต้องมีความสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อนำพาประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางนำสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา เริ่มใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาทดแทนกำลังคน โจทย์ของอาชีพในอนาคตจึงเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

“สิ่งที่ต้องตระหนักคือการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพและสมรรถนะที่เหนือกว่า AI ทั้งภาคการศึกษาและภาคผู้ใช้กำลังคนต้องปรับตัวทั้งระบบการศึกษาและการใช้กำลังคนและสร้างสมรรถนะกำลังคนเพื่อตอบสนองตลาดแรงงานตามไปด้วย” ดร.ชัยยศ กล่าวและว่า ทั้งนี้การประชุมระดมความเห็นในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อวางระบบการศึกษาทุกพื้นที่ทั่วประเทศให้มีคุณภาพมีการจัดการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาของชาติที่มีความสอดคล้องกับอัตลักษณ์ ความต้องการ และภูมิสังคมของผู้เรียนภาคใต้ เพื่อตอบโจทย์การผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพตอบสนองความต้องการบุคลากรในพื้นที่และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางในอนาคต โดยข้อสรุปและสาระที่เป็นประโยชน์จากการประชุมครั้งนี้ทาง สกศ. จะได้สรุปรายงานต่อเลขาธิการสภาการศึกษา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตามลำดับ เพื่อจัดทำข้อเสนอในการปฏิรูปการศึกษาต่อไปนางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศบาลนครภูเก็ต และ กกส.ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานมีผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตของชาวภูเก็ต เพราะเด็กผู้เรียนในพื้นที่มีความหลากหลายทั้งด้านพื้นฐานครอบครัว รายได้ และความสามารถ อีกทั้งผู้ประกอบการมีความต้องการกำลังคนที่ตรงกับสายงาน เทศบาลนครภูเก็ต จึงกำหนดเป้าหมายเด็กต้องเรียนรู้มากกว่า 2 ภาษา และมีการสร้างทางเลือกการศึกษาให้เลือกเรียนอย่างหลากหลาย เช่น กิจกรรมร้องเพลง กีฬา เทคโนโลยี ศิลปะ เป็นต้น จึงต้องสนับสนุนให้ผู้เรียนค้นหาตัวตนเอง จึงจะสามารถเลี้ยงตัวเองและสร้างอาชีพได้


นายกเทศบาลนครภูเก็ต กล่าวค่อไปว่า การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นภูเก็ต มุ่งเน้นที่ผู้เรียนเป็นสำคัญครอบคลุมทุกระดับทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เช่น หลักสูตรอาหาร มัคคุเทศก์ เทคนิคหุ่นยนต์ เป็นต้น เพื่อสร้างทางเลือกการศึกษาให้ผู้เรียนค้นพบความถนัดและความเชี่ยวชาญของตนเอง นอกจากนี้ การจัดทำฐานข้อมูลการศึกษาในพื้นที่เพื่อตอบโจทย์ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เช่น สถิติการศึกษา จำนวนครู จำนวนผู้เรียน สถิติการขาดลามาสายของทั้งครูและผู้เรียน รายละเอียดงบประมาณด้านต่าง ๆ เพื่อใช้วางแผนพัฒนาการศึกษาเชิงพื้นที่สามารถแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำ และเฝ้าระวังไม่ให้ผู้เรียนหลุดจากระบบการศึกษา โดยไม่ลืมอัตลักษณ์คนพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และสร้างอาชีพรายได้ และตอบโจทย์การทำงานได้

ด้าน นางเชิญพร กาญจนะสายะ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ความต้องการกำลังคนของผู้ประกอบการภูเก็ต มองว่าเด็กภูเก็ตยังขาดทักษะที่จำเป็น 2 ประการ คือ ความเชี่ยวชาญทักษะอาชีพ และ ทักษะการดำรงชีวิต ทั้งนี้พบว่าร้อยละ 95 ของเด็กไทยยังขาดทักษะการดำรงชีวิต ขาดความอดทน ขาดประสบการณ์ แตกต่างกับแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานถึงแม้เรียนไม่จบป.6 แต่มีทักษะชีวิตที่ดีมาก สามารถพัฒนาการทำงานทักษะอาชีพได้อย่างหลากหลายมากกว่าเด็กไทยที่จบการศึกษาระดับสูงกว่า แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาในการทำงานได้

นางเชิญพร กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่ในจังหวัดภูเก็ตต้องการกำลังคนที่มีคุณภาพและมีทักษะอาชีพสูง เพื่อตอบโจทย์อาชีพและการทำงาน ภูมิสังคมภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว และมีศักยภาพสูงมากพอจะสร้างอาชีพกำลังคนที่สามารถดูแลผู้สูงอายุรองรับสังคมผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดีและอาชีพนี้กำลังเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก ซึ่งจุดพัฒนาง่ายที่สุดคือพื้นฐานอัธยาศัย นิสัยความโอบอ้อมอารีของคนภูเก็ต จึงมีศักยภาพการพัฒนาสูงกว่าธุรกิจอื่น ๆ นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีการลงทุนมหาศาล เช่น ห้างสรรพสินค้า กลุ่มเซ็นทรัล มีความต้องการกำลังคนจำนวนมากกว่า 5,000 อัตรา ดังนั้นสิ่งที่สังคมภูเก็ตต้องการคือ เด็กดี คิดเป็น แก้ปัญหาได้ มีความอดทน สู้งานหนัก โดยเป้าหมายชาวภูเก็ตต้องการสร้างให้เด็กภูเก็ตเป็นคน “ตงห่อ” ซึ่งเป็นภาษาถิ่นของจังหวัดภูเก็ต ที่มีความหมายถึงการเป็นคนดีในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์และกตัญญู หรือเป็นคนดีตามสไตล์ภูเก็ต ซึ่งเป็นสมรรถนะของกำลังคนคุณภาพที่ภาคธุรกิจต้องการสูง

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments