จากการประชุมแสดงผลการดำเนินงานโครงการไทยนิยม ยั่งยืน และงานนโยบายของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ที่ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561โดย พล..สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ประธานการประชุมและมอบโล่รางวัลชุมชนต้นแบบระดับสำนักงาน กศน. 19 แห่ง และรางวัลชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด 53 แห่ง โดยมี นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการ กศน., นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ นายศรีชัย พรประชาธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)และผู้บริหารสำนักงาน กศน.ทั่วประเทศ ร่วมประชุม

นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวรายงานว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ได้เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้บูรณาการขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่ตามแนวทางประชารัฐ คือ ให้ส่วนราชการหน่วยงานที่มีหรือจะมีโครงการกิจกรรมดำเนินการในพื้นที่ระดับตำบล หมู่บ้าน ใช้ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบลเป็นแกนหลัก และให้ทุกส่วนราชการสนับสนุนกลไกการขับเคลื่อนในพื้นที่ทุกระดับ ตั้งแต่จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนงานและโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายลงพื้นที่ในระดับหมู่บ้านร่วมกัน ตามแนวทางประชารัฐ และเพื่อพัฒนาแก้ไขปัญหาในมิติเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ตลอดจนเพื่อสร้างความตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของประชาชน ในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองระบอบประชาธิปไตย

นายอำนาจ กล่าวว่า โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ไปจนถึงระดับหมู่บ้าน โดยได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานให้กับหน่วยงานในสังกัด ตั้งแต่ระดับจังหวัด มีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ประสานกับคณะกรรมการโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับจังหวัด ทุกส่วนราชการในจังหวัด สถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งสถานศึกษาทุกระดับ ส่วนระดับอำเภอ สถานศึกษาทุกระดับก็จะมีส่วนสำคัญกับการทำงานร่วมกับคณะกรรมการไทยนิยมฯ ระดับอำเภอ ในระดับตำบล จะเพิ่มเติมสถานศึกษาในแต่ละตำบล รวมทั้งสำนักงาน กศน.ตำบล และศูนย์การเรียนรู้ตำบล เข้าทำงานร่วมกับคณะกรรมการระดับตำบลด้วย โดยให้ดำเนินการตาม Road Map และภายใต้กรอบหลัก 10 ข้ออย่างเข้มแข็ง พร้อมทั้งได้สั่งการให้ทั้ง 5 องค์กรหลักของ กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานในกำกับ จัดทำข้อมูลการดำเนินงานเพื่อสร้างการรับรู้ในภารกิจของกระทรวงในการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยผ่านทีมงานระดับตำบล ได้แก่ ครูกศน.ตำบล เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่สามารถเข้าถึงความต้องการของประชาชนอย่างเต็มที่ และการสร้างการรับรู้ในชุดความรู้ของกระทรวงศึกษาธิการสู่ประชาชน ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป

พล..สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มีผลการดำเนินงานที่มีความก้าวหน้าอย่างเป็นระบบ และเห็นถึงความมุ่งมั่นที่ทุกคนต้องการสร้างประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติ ตามบทบาทหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการ แต่ก็ได้แสดงให้เห็นว่าสำนักงาน กศน. สามารถเป็นที่พึ่งที่ปรึกษาแก่ประชาชน ตลอดจนให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เพื่อเป็นกรอบการทำงานให้ทุกหน่วยงานทุกภาคส่วน เดินสู่เป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยมียุทธศาสตร์หลัก 6 ด้าน ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะสำนักงาน กศน. ถือว่ามีความเกี่ยวข้องครอบคลุมในทุกยุทธศาสตร์ และโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ก็ถือเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบหลักการมีส่วนร่วม 10 แนวทาง ได้แก่ 1) สัญญาประชาคม ผูกใจไทยเป็นหนึ่ง 2) คนไทยไม่ทิ้งกัน 3) ชุมชนอยู่ดีมีสุข 4) วิถีไทยวิถีพอเพียง 5) รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย 6) รู้กลไกการบริหารราชการ 7) รู้รักประชาธิปไตยไทยนิยม 8) รู้เท่าทันเทคโนโลยี 9) ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด และ 10) งานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน (Function)

พล..สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า จากการดำเนินงานผที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ แต่ก็ขอให้พิจารณาการดำเนินงานด้วยว่า สิ่งใดเกิดประโยชน์ต่อประชาชนก็ขอให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และส่วนใดต้องแก้ไขปรับปรุงก็ต้องเร่งพัฒนาให้ถูกต้องและตรงกับบริบทของพื้นที่อย่างเหมาะสมต่อไป อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องการให้พิจารณาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือ โครงการชุมชนต้นแบบซึ่งเกิดประโยชน์กับชุมชนอย่างแท้จริง และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องควรมีการขยายผลชุมชนต้นแบบเพิ่มเติมทั้งในระดับอำเภอและระดับตำบล เสมือนชุมชนต้นแบบคือสัญลักษณ์ของสำนักงาน กศน. ในโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยการพิจารณาคัดเลือกชุมชนต้นแบบ ควรคำนึงถึงบริบทและศักยภาพที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ด้วย โดยตั้งเป้าหมายจะขยายผล “ชุมชนต้นแบบระดับตำบล” ให้ครบทั้ง 7,424 ตำบล ภายในปี 2561 เพื่อมอบเป็น “ของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน”

พล..สุรเชษฐ์ ยังได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานด้านอาชีวศึกษาซึ่งดูแลรับผิดชอบด้วยว่า มีความก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ซึ่งดำเนินการจัดตั้งครบทั้ง 6 ภาคแล้ว โดยใช้แนวทางการทำงานประกอบด้วย “1 ศูนย์กลาง 6 ศูนย์ภูมิภาค 18 ศูนย์กลุ่มจังหวัดและหากมีการจัดตั้ง กศน.ในระดับภาค ก็จะช่วยส่งเสริมเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับศูนย์ประสานงานฯ ของอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาอาชีพและรายได้แก่ผู้เรียนในระบบการศึกษานอกระบบด้วย ทั้งนี้ได้มีการบูรณาการข้อมูลความต้องการกำลังคนอาชีวะกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมเป็น Big Data ด้านกำลังคนอาชีวศึกษา ที่จะมีความสำคัญต่อการพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดงาน และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศในมิติของเศรษฐกิจด้วย อีกทั้งได้ตั้งเป้าหมายที่จะรวบรวมข้อมูลนักศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ต้องการต่อยอดการพัฒนาอาชีพ เพื่อนำเข้ามาเรียนอาชีวศึกษานอกระบบให้มากขึ้น

การที่รัฐบาลกำหนดให้มีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เนื่องจากมีความต้องการพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน ภายในระยะเวลา 5 ปี จึงทุ่มเทแนวคิดเพื่อวางแผนและบริหารทรัพยากร ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือเพื่อพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยขอให้คำนึง 3 เรื่องที่จะช่วยให้การทำงานทุกอย่างเกิดผลสำเร็จ คือ “ผลสัมฤทธิ์ เป็นรูปธรรม ยั่งยืน” ที่จะต้องมองไปข้างหน้าให้มากขึ้น ทำงานด้วยความสุข เพราะความสุขของคนเราอยู่ที่ความภูมิใจ เมื่อได้มองเห็นสิ่งที่ตั้งใจทำแล้วก็จะเกิดความสำเร็จ อันจะนำไปสู่การร่วมกันสร้างประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า และมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”พล.สุรเชษฐ์กล่าว.

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments