เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2565 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา (สพฐ.) ซึ่งเกณฑ์ใหม่ ให้ สพฐ.เป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณในการดำเนินการสอบแข่งขัน ในวัน และเวลาเดียวกัน เพื่อให้การจัดสอบมีมาตรฐาน และเป็นธรรม จากเดิมที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) หรือ อ.ก.ค.ศ.ที่ ก.ค.ศ.ตั้ง แล้วแต่กรณี กำหนดวัน และเวลาในการคัดเลือกฯ เอง นั้น เรื่องนี้ สพฐ.กำลังรอหนังสือแจ้งมติอย่างเป็นทางการก่อน จากนั้นก็จะมากำหนดปฏิทินการจัดสอบ และประกาศรับสมัครอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะเร่งดำเนินการเพื่อคัดเลือกผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาได้ทันวันที่ 1 ตุลาคมนี้

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า การกำหนดรายละเอียดต่างๆ ในการจัดสอบ ขึ้นอยู่กับ 2 ส่วน คือ จังหวัดที่เปิดสอบ และอัตราว่าง ซึ่งจะต้องสำรวจให้ชัดเจน โดยที่ผ่านมา สพฐ.สั่งการให้สำรวจอัตราว่างตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วประเทศแล้ว โดยเบื้องต้นมีอัตราว่างจากอัตราเกษียณที่ต้องเปิดสอบทดแทนมากกว่า 5,000 อัตรา ดังนั้น จึงต้องเร่งดำเนินการ เพื่อไม่ให้โรงเรียนเกิดปัญหาในการบริหารจัดการ อย่างไรก็ตาม สพฐ.มั่นใจว่าจะสามารถจัดสอบได้อย่างไม่มีปัญหา โดยมีมาตรการป้องกันการทุจริตที่เข้มข้น รวมถึง มีตัวชี้วัด และการประเมินผลที่ได้มาตรฐาน เชื่อว่าจะสามารถคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมมาเป็นผู้บริหารสถานศึกษาได้อย่างแน่นอน ส่วนการออกข้อสอบนั้น โดยหลักการ กศจ.จะต้องมอบอำนาจให้ สพฐ.ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะให้ใครเป็นผู้ออกข้อสอบ แต่อาจมอบให้ กศจ.คัดเลือกมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เป็นผู้ออกข้อสอบก็ได้

ด้าน รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ยังเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการเลื่อนระดับตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป และตำแหน่งประเภทวิชาการ เนื่องจากส่วนราชการ และหน่วยงานการศึกษา ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้ออกกฎ ก.พ.ว่าด้วยการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ.2564 รวม 3 ฉบับ ก.ค.ศ.พิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการของ ก.พ.ที่ ก.ค.ศ.นำมาบังคับใช้โดยอนุโลมว่าปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง พร้อมทั้งนำกรณีที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.กำหนดได้ มาประกอบการพิจารณา เพื่อกำหนดเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด เพื่อให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับบริบท และกลไกการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตามมาตรา 38 ค.(2)

ทั้งนี้ ให้เป็นตามมาตรฐานเดียวกันกับหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ ก.พ.แต่เน้นหลักการกระจายอำนาจให้ส่วนราชการเป็นผู้วางระบบการคัดเลือกบุคคลอย่างเป็นระบบ มีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น ประเมินโดยผู้บังคับบัญชาขั้นต้น ลดระยะเวลาการประเมิน และสามารถส่งเสริมผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีผลงาน โดยหลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือก เน้นความรู้ ความสามารถ และความชำนาญในสายงานที่จะแต่งตั้งบุคคลให้เหมาะสมกับตำแหน่ง เป็นหลัก

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments