เมื่อวันที่  22 สิงหาคม 2565 ที่ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)สระแก้ว อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว นางสาวตรีนุช  เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศึกษาธิการ) เป็นประธาน เปิดโครงการพัฒนาการศึกษาด้านอาชีพ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดสระแก้วและพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงานระหว่างสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) และภาคีเครือข่าย โดย น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง การจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 หรือการจัดการศึกษาเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาตนเอง การพัฒนาทักษะอาชีพ และการพัฒนาทักษะฝีมือ ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งเน้นให้คนไทยได้รับการพัฒนาการศึกษาทุกช่วงวัย ในทุกสถานที่ ทุกที่ทุกเวลา ทั้งการเรียนในระบบที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กศน. ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะเป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น สามารถตอบโจทย์คนทุกช่วงวัยเป็นการศึกษาตลอดชีวิต ที่สำคัญตอบโจทย์การพัฒนาอาชีพ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับพื้นที่ได้ อย่างจังหวัดสระแก้วซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร กศน.ก็ได้มาจัดการเรียนการสอน มาสร้างอาชีพให้ ซึ่งต้องยอมรับว่าอาชีพเกษตรกร มีฤดูกาล และมีปัญหาเรื่องความผันผวนของราคาพืชผลทางการเกษตรที่ไม่แน่นอน  วันนี้ กศน.ได้ร่วมกับ อบจ.สระแก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว โดยฟังเสียงของชุมชนว่าต้องการอะไร จนเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมาซึ่งนอกจากจะได้ต่อยอดนวัตกรรม ต่อยอดอาชีพ หาตลาดรองรับ ยังได้สร้างเศรษฐกิจ และรายได้ให้พี่น้องชาวสระแก้วอย่างแท้จริง

“นอกจากนี้ กศน.ยังได้ขับเคลื่อนในหลาย ๆ เรื่อง เพราะเป็นหน่วยงานที่เข้าถึงประชาชนทุกช่วงวัย แต่ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมายังมีความยากลำบากและความไม่พร้อม งบประมาณก็มีจำกัด ซึ่งปีนี้ดิฉันได้พยายามผลักดัน จัดสรรงบประมาณเรื่องของการซ่อมแซมสถานที่ เพื่อให้สามรถเข้าถึงการพัฒนาอาชีพ พัฒนาการศึกษาของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย”น.ส.ตรีนุช กล่าว

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า เมื่อพูดถึงเรื่องการศึกษา ในฐานะลูกหลานชาวสระแก้วและมีโอกาสได้เข้าไปทำงานในกระทรวงศึกษาธิการที่ดูแลการศึกษาในทุกมิติ ทำให้เห็นถึงข้อจำกัดในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณที่ถึงแม้กระทรวงศึกษาธิการจะได้งบฯเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ แต่งบฯที่ได้มาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของบุคลากร ทำให้งบฯพัฒนาน้อย เมื่อมีโอกาสดูเรื่องการศึกษาก็พยายามมองว่าจะสามารถพัฒนาด้านการศึกษาอะไรให้กับประเทศบนข้อจำกัดที่มีอยู่ ทั้งการสร้างคุณภาพ การลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างโอกาส จึงเกิดเป็น”สระแก้วโมเดล” โดยทำกลุ่มโรงเรียนคุณภาพ 58 โรง ในจังหวัดสระแก้ว เพื่อให้โรงเรียนเหล่านี้เป็นโรงเรียนคุณภาพอย่างแท้จริง ไม่ใช่คุณภาพแค่ชื่อ โดยมีการจัดสื่อดิจิทัล เข้าไปในโรงเรียน ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลและสื่อต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลก็จะไม่ทอดทิ้ง แต่จะสร้างเสริมให้เข้าถึงคุณภาพให้ได้ รวมถึงได้มีการจัดครู ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ เข้าไปเสริมให้ เพราะถือว่าภาษาก็เป็นเรื่องสำคัญ

“เรื่องการสร้างโอกาสให้เด็กด้อยโอกาสในจังหวัดสระแก้ว ก็ได้มีการหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว และสพฐ.ซึ่งได้จัดงบฯที่จะสร้างโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จังหวัดสระแก้วไว้แล้ว เหลือแต่หาสถานที่จัดสร้าง เพื่อรองรับเด็กชายขอบและเด็กที่มีฐานะยากจนให้เข้าสู่ระบบการศึกษามากที่สุด นอกจากนี้ยังได้เตรียมจัดสร้างโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จังหวัดสระแก้ว ซึ่งได้งบฯแล้วและผู้ว่าฯก็จัดหาสถานที่ก่อสร้างให้แล้ว เพราะฉะนั้นในเวลาอันใกล้นี้ จังหวัดสระแก้วจะมีโรงเรียนดี ดัง รองรับเด็กที่เก่งด้านวิทย์ คณิต ได้เรียนใกล้บ้าน”รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

ด้าน นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการกศน. กล่าวว่า  สำนักงาน กศน. มีหน้าที่สำคัญ ในการจัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีคุณภาพสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและยกระดับการศึกษา พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย  ขณะเดียวกันก็ส่งเสริม สนับสนุน แสวงหา และประสานความร่วมมือเชิงรุกกับภาคีเครือข่ายให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนและจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน พร้อมทั้ง ส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษา และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดและให้บริการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง และ พัฒนาหลักสูตร รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สื่อและนวัตกรรม การวัดและประเมินผลในทุกรูปแบบให้มีคุณภาพสอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน

เลขาธิการ กศน. กล่าวว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สำนักงาน กศน.จึงมอบหมายให้สำนักงาน กศน.จังหวัดสระแก้วศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว และศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนสระแก้ว ร่วมกันจัดทำเวทีประชาคมในพื้นที่ร่วมกับภาครัฐ องค์กรส่วนท้องถิ่น และประชาชนในจังหวัดสระแก้ว พบว่า ประชาชนกลุ่มเป้าหมายของ กศน.มีความต้องการการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเกษตรสมุนไพร การพัฒนา และสนับสนุนปัจจัยการผลิต การบริหารจัดการน้ำโดยใช้พลังงานทดแทน การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ ตลอดจนพัฒนามาตรฐานการผลิตและการแปรรูป โดยเฉพาะช่องทางการตลาด รวมถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้าทั้งการพัฒนาจนเข้าสู่มาตรฐานการรับรองทั้งภายในประเทศและต่างประเทศสู่การยกระดับเพื่อการส่งออก

“การขับเคลื่อนนโยบายได้มีการประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ได้แก่  บริษัท เจียงเหลียง  โฮลดิ้งส์  จำกัด  บริษัท  อ้วยอันโอสถ  จำกัด  บริษัท ดีท้อกซ์  ประเทศไทย จำกัด  โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนสระแก้ว  สำนักงานพลังงานจังหวัดสระแก้ว  มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว  มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์  ศูนย์สระแก้ว   วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว  วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว  วิทยาลัยเทคนิควังน้ำเย็น  วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว เพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาและศักยภาพด้านอาชีพของประชาชน เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยการพัฒนาอาชีพทางด้านพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชน ท้องถิ่น ในรูปแบบ“SAKAEO MODEL by กศน.” “การตลาดนำการผลิต”

 

 

 

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments