เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ศ.กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต และนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย กล่าวตอนหนึ่ง ในการเป็นประธานเปิดงาน ประกวดเรียงความหัวข้อ “ครูใหญ่ในใจเรา”โดยมูลนิธิเอเชีย ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย (DFAT) และสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย ได้จัดขึ้นเพื่อรับฟังและนำข้อคิดเห็นและเสียงสะท้อนของนักเรียน ว่า “ภาษาไทยเป็นสมบัติของประเทศไทย เราเป็นเจ้าของภาษา หากเราไม่ใช้ภาษาก็จะไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ ดังนั้นความสำคัญของภาษาจึงไม่ได้เป็นแค่ศาสตร์หรือวิชา แต่เป็นสิ่งที่ผูกพันกับตัวเรา และเมื่อเราเป็นคนไทยก็ต้องใช้ภาษาไทยเพื่อสื่อสารกับคนรอบข้าง ปัจจุบันยังมีการใช้ภาษาไทยที่ผิดอยู่มากทั้งนี้เป็นเพราะผู้ใช้ไม่เข้าใจว่าภาษา คือตัวตนของเรา ถ้าเราพูดดีหรือใช้ภาษาที่ดีอย่างน้อยก็ทำให้ผู้อื่นเห็นว่าเราเป็นคนดี หรือเป็นคนน่ารัก แต่หากเราใช้คำหยาบคายผู้คนก็จะไม่ชอบ การใช้ภาษาดีจะทำให้สังคมน่าอยู่ ตัวผู้ใช้ก็จะเป็นที่รักใคร่เป็นที่ชื่นชอบของบุคคลรอบข้าง และคุณครูที่โรงเรียนก็ไม่ควรสอนเด็กเฉพาะในเรื่องอักขรวิธี ตัวสะกด แต่จะต้องสอนในเรื่องวัฒนธรรม ความเป็นคน โดยเฉพาะในเรื่องสมบัติของชาติ เพราะเป็นสิ่งที่เขาจะต้องสืบสานกันต่อไปในอนาคต รวมถึงจะต้องหาวิธีการทำให้เด็กรักภาษา และที่สำคัญต้องใช้ภาษาที่ถูกต้องเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับนักเรียนด้วย

นายธนะ ตันติสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนนอก (ประชาราษฎร์อนุกูล) เขตดินแดง กล่าวว่า การประกวดเรียงความหัวข้อ“ครูใหญ่ในใจเรา”เป็นกิจกรรมต่อเนื่องของโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่ ซึ่งได้นำเสนอ 12 โรงเรียนต้นแบบที่มีผู้นำทางวิชาการที่เข้มแข็ง เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่น สร้างผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมได้  แม้ว่าจะอยู่ในบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน ด้วยมุ่งหวังให้เกิดแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาไทยในทุกมิติ โดยโรงเรียนสามเสนนอกได้นำร่องจัดอบรมให้ความรู้ในการเขียนเรียงความ ให้กับคณะครูผู้สอนวิชาภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษา- มัธยมศึกษา และยังได้นำนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเข้าร่วมในกิจกรรมประกวดเรียงความ โดยมีเนื้อหาใจความเพื่อสะท้อนคุณสมบัติทางวิชาการ หรือด้านสังคม และมีความคิดสร้างสรรค์ โดยผลที่คาดว่าจะได้รับคือได้ทราบถึงความคาดหวังของเด็กและเยาวชน นำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมให้สอดคล้อง กับความต้องการในเชิงสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน รวมถึงนักเรียนจะสามารถเขียนเรียงความได้อย่างถูกต้องตามหลักภาษาไทย สร้างเสริมการรู้รักษ์ภาษาไทย และกล้าแสดงออกอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์

ด้าน น.ส.มนัสวี พรหมสุทธิรักษ์ ผู้ประสานงานโครงการ มูลนิธิเอเชีย ได้กล่าวถึง กิจกรรมการประกวดเรียงความในครั้งนี้ ว่า  เป็นการแข่งขันในระดับชั้น ม.1-ม.6 โดยนักเรียนจากทั่วทุกภูมิภาค สามารถส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด โดยหลักเกณฑ์การตัดสินประกอบด้วย รูปแบบ, เนื้อเรื่อง, การใช้ภาษา และลายมือ รวมเป็น 50 คะแนน ผลงานจะต้องเขียนด้วยลายมือตนเอง ลงบนกระดาษมีเส้นบรรทัด ด้วยปากกาสีน้ำเงินหรือสีดำ ผู้ชนะการประกวดจะได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท (2 รางวัล), รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 15,000 บาท (2 รางวัล), รองชนะเลิศอันดับสอง 10,000 บาท (2 รางวัล) และรางวัลชมเชย 3,000 บาท (60 รางวัล) พร้อมรับเกียรติบัตรจากมูลนิธิฯ ทุกรางวัล ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1epOuWZLmRGAVicZlKVbjz1lajjZjUH_N/view?usp=sharing และส่งใบสมัครพร้อมผลงานมาทางไปรษณีย์ไปที่ ดร.รัตนา แซ่เล้า มูลนิธิเอเชีย ประเทศไทย เลขที่ 38 อาคารชลันทิพย์ ชั้น 6 ถนนคอนแวนต์ แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. 10500 ได้ตั้งแต่วันนี้-31 ต.ค.65 โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook : โรงเรียนดีมีทุกที่ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 062-7341267

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments