เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีวางพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” เนื่องใน “วันเทคโนโลยีของไทย” ประจำปี 2565 โดยมี ดร.ลัทธจิตร มีรักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีวางพุ่มดอกไม้และถวายราชสักการะ พร้อมด้วย ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงฯ นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ, ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ, นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงฯ คณะผู้บริหาร อว. ผู้แทนหน่วยงานในสังกัด ผู้แทนมหาวิทยาลัย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานราชการต่างๆ เข้าร่วมวางพุ่มดอกไม้และถวายราชสักการะฯ ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระสยามเทวมหามงกุฎวิทยามหาราช รัชกาลที่ 4 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร

19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 จุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของไทย จากการศึกษาและค้นพบวิธีการทำฝนเทียมสูตรใหม่ของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงควบคุมบัญชาการและอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่เป็นครั้งแรกของโลก ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยใช้สนามบินบ่อฝ้าย อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นฐานปฏิบัติการ และก็ประสบความสำเร็จฝนตกตามเป้าหมายอย่างแม่นยำ สร้างความประทับใจและยินดีแก่คณะผู้แทนรัฐบาลสิงค์โปร์ และผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเทิดพระเกียรติในพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ได้มีมติให้ความเห็นชอบพระราชทานพระบรมราชานุญาตเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันเทคโนโลยีของไทย”

การที่ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ก่อกำเนิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาทิ โครงการแกล้งดิน เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยว โครงการหญ้าแฝก เทคโนโลยีป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน โครงการแหลมผักเบี้ย เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย โครงการคลองลัดโพธิ์ เทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

และตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงงาน ภาพที่เห็นจนชินตาจากทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวการพัฒนาเทคโนโลยีของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจช่วยเหลือราษฎรผู้ทุกข์ยาก เมื่อพบปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร พระองค์จะทรงนำกลับมาขบคิดหาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการปัญหานั้น ๆ พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีประโยชน์และบรรเทาความเดือดร้อนแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้แก่ปวงชนชาวไทย

ด้วยพระราชกรณียกิจ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย ทรงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศและแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงนำความรู้ทางสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกสาขาวิชามาใช้ในการพัฒนาทุกแขนง ทรงมุ่งให้เกิดการพัฒนาคนให้อยู่ได้ด้วยการพึ่งตนเองเป็นสำคัญทุก ๆ โครงการที่มีพระราชดำริและพระราชทานให้แก่ประชาชน ล้วนมีวิธีดำเนินการได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซ้ำซ้อน มีความสอดคล้องกับระบบนิเวศโดยรวมของธรรมชาติ และสภาพสังคมของชุมชนนั้น ๆ ไม่ทรงปิดกั้นเทคโนโลยีใหม่จากต่างประเทศ แต่ทรงเน้นว่าจะต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์มาปรับปรุงใช้ได้ดีพอ เหมาะกับสภาพและฐานะของประเทศ โดยเน้นที่ประสิทธิภาพ ประหยัดและการทุ่มแรงงาน พระองค์ทรงเป็นดุจประทีปชี้นำทางสว่างสู่ปวงประชา

นอกจากนี้ยังมีโครงการตามพระราชดำริในเรื่องพลังงานทดแทนอื่น ๆ อีก เช่น การผลิตดีโซฮอล์ล ซึ่งเป็นการผลิตเชื้อเพลิง จากการผสมเอทานอล กับน้ำมันดีเซล ผลการทดลองพบว่าสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับเครื่องยนต์ดีเซลได้ และลดควันดำถึง 5% หรือพระราชดำริให้โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาทดลองผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลโคนม ซึ่งได้ก๊าซมีเทนที่เป็นก๊าซติดไฟกว่า 50% และก๊าซอื่น ๆ ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ เทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน ยังมีวิทยาการและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ทรงใช้ในการพัฒนาอีกจำนวนมาก เช่น ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ด้านสาธารณสุขและการแพทย์ ตลอดจนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีความมุ่งมั่นในการที่จะสืบสานพระราชปณิธานฯ โดยการน้อมนำและสานต่อ องค์ความรู้แห่งพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย ให้แผ่ขยายไปในวงกว้างและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนสืบไป.

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments