ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)  เปิดเผยว่า วันนี้( 9 กุมภาพันธ์ 2566) ตนได้หารือแนวทางเตรียมความพร้อมเพื่อรับการประเมินสมรรถนะสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ในระดับนานาชาติ ร่วมกับ ดร.โกศล  เพ็ชร์สุวรรณ์  ผู้ทรงคุณวุฒิที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และผู้เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปว่า สมรรถนะสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ในระดับนานาชาติ ประกอบด้วย 1. ทักษะในการนำความรู้ด้านคณิตศาสตร์มาใช้งานในชีวิต หรือ Mathematical literacy (ความฉลาดด้านรู้คณิตศาสตร์)  2.ทักษะในการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้งานในชีวิต หรือ Scientific literacy (ความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์) และ 3.ทักษะในการอ่านรู้เรื่อง หรือ Reading literacy (ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน)  ส่วนปัญหาและสาเหตุของผลประเมินสมรรถนะสำคัญที่ยังเป็นข้อจำกัด ทั้งในส่วนของการให้ความสำคัญ การสร้างความตระหนัก ความรู้ความเข้าใจของครูผู้สอน การเตรียมความพร้อม และรูปแบบของการสุ่มกลุ่มตัวอย่างในการประเมิน

รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ นั้น ที่ประชุมเห็นว่า ควรมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมของกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ขณะเดียวกันต้องมีการสร้างความตระหนักให้กับผู้บริหาร ครู และนักเรียน เพื่อให้ความสำคัญกับการพัฒนาและประเมินสมรรถนะสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของนักเรียน นอกจากนี้ต้องมีการสร้างโอกาส ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนมีประสบการณ์และความคุ้นเคยกับเครื่องมือที่ใช้ประเมินอย่างหลากหลายและต่อเนื่องผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงเสนอแนะคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับรูปแบบการคัดเลือกและระบบสุ่มกลุ่มอย่างโดยใช้พื้นที่เป็นฐานเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทประเทศไทยและนโยบาย Decentralized ให้มากขึ้น แนวทางนี้จะทำให้มีฐานการยกระดับคุณภาพการศึกษาแต่ละจังหวัดที่มากขึ้น หากผลการประเมินฯ สูงขึ้น  จะทำให้ค่า HDI (Human Development Index) หรือ “ดัชนีการพัฒนามนุษย์” สูงขึ้น ซึ่ง HDI เป็นตัวบ่งชี้ ระดับการพัฒนามนุษย์ในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ของ UNDP ขณะเดียวกันจะต้องเพิ่มจำนวนข้อสอบอัตนัยที่เน้นกระบวนการคิดและสมรรถนะในวิชาต่างๆ มากขึ้น  และควรกำหนดให้ผลการประเมินเป็นตัวชี้วัดศักยภาพระดับจังหวัด เพื่อให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดร่วมสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานในระดับพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป คือ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) จะไปทำแผนและข้อมูลสำหรับการขับเคลื่อนงาน ทั้งวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศในระดับโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อกำหนดนโยบายให้เขตพื้นที่การศึกษาขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments