เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2566 ที่ ห้องประชุมบุณยเกตุ คุรุสภา สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ได้จัดเวทีเสวนา ครูคิดวันปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2566 “คิดเพื่อเด็กเพื่อครูและประเทศชาติ” เพื่อเสนอกฎหมายการศึกษาต่อพรรคการเมือง โดยมีแกนนำครู 4 ภาค ตัวแทนพรรคการเมือง เข้าร่วม มี นายธีรศักดิ์ สุวรรณปัญญา ประธานสหพันธ์ครูภาคเหนือ เป็นพิธีกร ทั้งนี้ ดร.วีรบูล เสมาทอง ประธาน ส.ค.ท. กล่าวว่า ที่จัดเวทีเสวนาในวันนี้เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ครูทำขึ้น เพราะเราไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่ค้างท่อในสภาผู้แทนราษฏรอยู่ขณะนี้ หากรัฐบาลใหม่เข้าไปก็สามารถใช้มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)นำร่างที่ค้างท่อมาทำใหม่ได้ภายใน 30 วัน แต่ถ้าภายใน30 วันยังไม่ดำเนินการรัฐบาลก็สามารถตั้งคณะกรรมการยกร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นมาใหม่ได้ ซึ่งเราก็หวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเป็นรัฐบาลที่เปลี่ยนขั้ว ไม่ใช่พรรคเดิมเข้ามาเป็นรัฐบาล และรัฐมนตรีก็ไม่ใช่คนเดิม หากพรรคไหนนำข้อเสนอของครูไปดำเนินการทางสมาพันธ์ฯและสมาคมครูฯก็จะสนับสนุนพรรคนั้นเต็มที่

สำหรับข้อเสนอที่ทาง ส.ค.ท.ได้เสนอแนวความคิดร่วมของครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ต่อพรรคการเมืองทุกพรรคการเมือง ดังนี้ 1. เด็กไทยเรียนฟรีอย่างมีคุณภาพตลอดชีพ 2. จัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับครูและประชาชน ฉบับใหม่ ปล่อยให้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ค้างการพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ในรัฐสภาตกไป/แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างขึ้นมาใหม่ อย่างมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยนำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 พร้อมร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…(ฉบับครูและประชาชน) และร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…(ฉบับผู้ประกอบวิชาชีพครู)ที่นำเสนอโดยเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย 3. ทวงคืนสภาวิชาชีพครูและออก พรก.จัดตั้งกองทุนพัฒนาครูและสร้างรายได้ เสนอร่างพ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ดังนี้ 1.ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 7/2558 2. ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่17/2560 3.ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 16/2560 4.ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่11/2561 และให้รัฐบาลออก พรก.จัดตั้งกองทุนพัฒนาครูและสร้างรายได้ โดยใช้เงินกองทุนสนับสนุนกองทุน ชพค.เดิม จำนวน 25,000 ล้านบาท ที่ถูกยืดไปโดยคณะกรรมการสกสค.ในสมัยรัฐบาล คสช.

ดร.วีรบูล กล่าวต่อไปว่า ข้อเสนอที่ 4.คุณสมบัติที่จำเป็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ คือ 1.มีคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตโปร่งใส ตรวจสอบได้ 2.มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ เคยดำรงตำแหน่งครู ทำงานทางด้านการศึกษา 3.เป็นผู้มีความมุ่งมั่นที่จะสืบทอดเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการปฏิรูปการศึกษา การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อปวงชนชาวไทย 4.ให้ความสำคัญของวิชาชีพครู ต้องเป็นวิชาชีพควบคุม วิชาชีพชั้นสูง มีสภาวิชาชีพ มาตรฐานวิชาชีพ จรรยาบรรณวิชาชีพ เพื่อเป็นหลักประกัน สร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนและสังคม 5.ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานเด็กไทย ตามหลัก สิทธิมนุษยชน เชื่อมั่นและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยสากล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อประเทศชาติและประชาชน

นายธีรศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ ที่ครูทั้ง 4 ภูมิภาค เป็นตัวแทนครูทั่วประเทศ ได้นำเสนอปัญหาการศึกษา เพื่อเสนอพรรคการเมืองต่างๆ ที่สำคัญคือการต่อสู้เรียกร้อง การจัดทำร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ฉบับประชาชนและครู

นายประทุม เรืองฤทธิ์ ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ กล่าวว่า แม้เรื่องการศึกษา เป็นประเด็นสาธารณะ แต่วิชาชีพครู ถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่ผ่านมาเวทีครูคิด สามารถคิดได้อย่างเสรี ในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน แต่หลังรัฐประหาร ก็ต้องจัดในพื้นที่เฉพาะ เช่น รัฐสภา ดังนั้น จึงเชิญตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ มาร่วมรับฟังข้อเสนอ ทั้งนี้ ที่ผ่านมากว่า 20 ปีมีคำกล่าวว่า ครูก้าวหน้า การศึกษาตกต่ำ เป็นวาทกรรมที่สร้างความเจ็บปวด เพราะไม่มีใครรู้ว่าครูใช้ชีวิตอย่างไร ครูไทยสอนดี แต่กลับไม่มีเวลาสอน ต้องเอาเวลาไปทำอย่างอื่น ดังนั้นในทางนโยบายต้องไปคิดว่า จะทำอย่างไรให้ครูได้ทำงานสอน การจัดการศึกษาต้องเป็นสวัสดิการของรัฐ ที่จัดอย่างเหมาะสม เท่าเทียม ขณะเดียวกันจะต้องมีสวัสดิการอื่นรองรับผู้เรียน และประการสุดท้ายอยากขอคำมั่นสัญญานักการเมือง ทลายคำสั่งคสช. ทั้งหมดที่เกี่ยวกับการศึกษา

นางสุขมุกข์ เรืองอ่อน เลขาธิการสมาพันธ์ครูภาคใต้ กล่าวว่า ตนเป็นตัวแทนนักการศึกษาชายแดนใต้ ซึ่งจากการจัดอันดับคุณภาพภาคใต้จะอยู่ในลำดับรั้งท้ายของประเทศ จึงอยากฝากพรรคการเมือง ให้ลดความซ้ำซ้อนการทำงาน ภาคใต้มีเจ้านายจำนวนมาก ทั้งศึกษาธิการส่วนหน้า ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) แต่ละหน่วยงานจะคิดโครงการ โดยไม่ถามความต้องการของโรงเรียน ดังนั้นจึงขอให้ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนของหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ครูได้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีคุณภาพ รวมถึงต้องมีสวัสดีการให้ครูสามารถอยู่ในพื้นที่ได้ รวมถึงอยากให้รัฐบาลเข้าไปควบคุมคุณภาพโรงเรียนสอนศาสนา ทั้งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และหลักสูตรการสอน

นายเสน่ห์ ขาวโต ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเคยเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และผู้ตรวจราชการศธ. หวังจะเป็นตัวแทนของครู เพื่อเป็นปากเป็นเสียง ให้พี่น้องครู เพราะทุกวันนี้ครูทำงานหนัก แต่คุณภาพการศึกษาตกต่ำ จะทำอย่างไรให้เด็กไทยได้รับการศึกษาที่เท่าเทียม โดยทางพปชร. ได้รวบรวมความคิดเห็นจากตัวแทนทุกภาคส่วน ซึ่งคิดว่าการศึกษาต้องปรับเปลี่ยน ต้องปรับระบบการศึกษา โดยเฉพาะส่วนที่เป็นปัญหา ทุกวันนี้ โลกไปไกลมาก ไม่ได้มีเฉพาะการศึกษาในห้องเรียนเท่านั้น ต้องมองโอกาสทางการศึกษาให้เด็กทันโลก ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ครูมีส่วนในการบริหาร ต้องทำให้การศึกษาเป็นสวัสดิการที่แท้จริง โดยจัดคูปองการศึกษาประชารัฐ ให้กับผู้เรียนทุกคนลงทะเบียนนำคูปองไปใช้แทนค่าใช้จ่าย ทั้งหนังสือเรียน แบบเรียน รวมถึงนมโรงเรียนด้วย ลดความเหลื่อมล้ำ จัดโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 ทุนประชารัฐ คัดเลือกเด็กม.6 เรียนปริญญาตรี เมื่อจบแล้วกลับมาทำงานให้ท้องถิ่น อาชีวะศึกษาต้องเรียนฟรี ระดับ ปวช. และปวส. รวมถึงต้องมีรายได้ที่สูงกว่าปัจจุบัน

นายเสน่ห์ กล่าวอีกว่า ต้องให้ค่าอาหารกลางวันโรงเรียนเอกชน เช่นเดียวกันโรงเรียนรัฐ บริหารจัดการกศน.ตำบล ยกระดับเป็นสถานศึกษา ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับครู รัฐต้องหาบุคลากรที่ให้การสนับสนุนการเรียนการสอน รวมถึงดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพของครู สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) มีความจำเป็นต้องอยู่ ดูแลสวัสดิการครู และต้องอยู่อย่างสง่างาม

ดร.ปรีดา บุญเพลิง หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน กล่าวว่า ตนเป็นอดีตครูบ้านนอก เป็นครูใหญ่โรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีครูคนเดียวสอน 4 ชั้นเรียน เป็นประธานชมรมครูหลายองค์กร ถึงวันนี้ยังไม่มีการกระจายอำนาจไปยังสถานศึกษา เพราะเรื่องผลประโยชน์ และทำลายครูมากที่สุดในปี 2557 ยุบคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว. )โดยอ้างว่ามีการทุจริต ดังนั้น การเมืองอย่างเดียวที่จะเข้ามาแก้ปัญหาได้ โดยใช้การศึกษานำการเมือง ปฏิวัติหลักสูตรยุคใหม่ ลดเวลาเรียนให้สั้นลง เพื่อพัฒนาคนเข้าสู่ระบบงานได้เร็วขึ้น กระจายอำนาจให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลเต็มรูปแบบ คิดรายหัวนักเรียนเฉลี่ย ระดับอนุบาล คนละ20,000 บาทต่อคนต่อปี ประถมศึกษา 30,000 บาทต่อคนต่อปี มัธยมศึกษา/ปวช. 40,000 ต่อคนต่อปี เป็นต้น เด็กนักเรียนทุกคนต้องได้รับอาหารเช้า กลางวัน เย็นฟรี ตลอดทั้งวัน คืนครูให้นักเรียนด้วยการยกเลิกกิจกรรม โครงการที่ไม่ส่งเสริมคุณภาพผู้เรียน

ดร.วิทยา อินาลา หัวหน้าพรรคไทยพร้อม กล่าวว่า นโยบายการศึกษาของไทยพร้อม คือการเรียนรู้ตลอดชีวิต อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน การศึกษาในอนาคตต้องเปลี่ยนรูปแบบ ซึ่งครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญ ดังนั้นครู ต้องกำหนดกติกาของครูเอง ทางพรรคสนับสนุน พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับครูและประชาชน ที่จะเร่งผลักดันให้เป็นกฎหมาย เพื่อให้ได้สภาครูที่ถูกยุบเลิกไปกลับคืนมา ส่วนที่ค้างอยู่ในสภาฯ ทางพรรคไม่สนับสนุน เพราะไม่รู้ว่าใครเอาอะไรมาให้ ตนเป็นนักธุรกิจ ที่สนใจเรื่องการศึกษา เพื่อสร้างคนให้เป็นคนดี และคนเก่ง โรงเรียนต้องเป็นสถาบันหนึ่งที่จะหล่อหลอมให้นักเรียนเป็นคนดี พัฒนาประเทศ ไม่ใช่เอาแต่คนเก่งเข้ามา สุดท้ายเกิดการคอร์รัปชัน ถึงเวลาแล้วที่ต้องต่อสู้เพื่อการศึกษา หาคนดี มองคนมาบริหารประเทศในอนาคต จะเลือกคนที่เก่งความมั่นคงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว

รศ.ดร.สุรวาท ทองบุ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ทุกข้อเรียกร้อง หลายอย่างตนทำแล้ว เสนอพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งหมด 9 ฉบับ และประธานสภาฯ ให้ความเห็นแล้วว่า 5 ฉบับเป็นกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง สำหรับร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ มีพรรคก้าวไกลพรรคเดียวที่ไม่รับหลักการร่างนี้ แต่ต้องยอมรับเสียงข้างมากในขณะนั้น ตนอยู่อันดับที่ 30 ของบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ซึ่งหากต้องไปเป็นฝ่ายค้านอีก เหมือน4 ปีที่ผ่านมา คงไม่พ้นรับข้อเรียกร้อง เช่นเดิม ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 41 นโยบาย เป็นนโยบายโอบอุ้มผู้เรียน ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม

และสุดท้าย ดร.กวินทร์เกียรติ นนท์พละ ที่ปรึกษาทีมนโยบายการศึกษาพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนทำงานร่วมกับครูและบุคลากรทางการศึกษามานานกว่า 40 ปี รู้เห็นข้อขัดข้อง อุปสรรคทางการทำงาน ที่ค่อนข้างครอบคลุม ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวะ เอกชน ไปจนถึงมหาวิทยาลัย ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนการศึกษา 4 ข้อหลัก คือ 1.ต้องสร้างขวัญกำลังใจให้ครูทุกคน 2.ต้องเป็นการกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา 3.นำเทคโนโลยีเข้าช่วยลดปัญหาขยะเอกสารของครู และ4. จะต้องทำให้คนทำงานมีความสุข สิทธิประโยชน์และสวัสดิการต้องทั่วถึงและเป็นธรรม

ดร.กวินทร์เกียรติ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้พรรคเพื่อไทย จะดำเนินการใน 2 ยุทธศาสตร์หลัก คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ต้องปรับปรุง แก้ไข ปรับเปลี่ยน และตรากฎหมายขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เท่านั้น แต่รวมไปถึง พ.ร.บ.สภาครู และบุคลากรทางการศึกษา พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา เป็นต้น เพราะ ทุกอย่างยังไม่สอดคล้องต้องกัน มีปัญหา ล้าหลัง ย้อนแย้ง ยุทธศาสตร์ที่ 2 การนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมทางการศึกษา วันนี้เด็กเกิดลดลงเหลือ ปีละ 4.9 แสน ผลกระทบเกิดขึ้นโดยรวม โรงเรียนเอกชน มหาวิทยาลัย รับเด็กได้น้อยลง ดังนั้นทุกฝ่ายต้องมาร่วมมือกัน อนาคต เด็ก1 คน อาจสามารถเรียนพร้อมกันได้ 2 แห่ง โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่นกันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับครู ต้องปรับปรุง การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะต้องดูจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก ไม่ใช่การให้ครูนั่งทำเอกสาร เพื่อไทยตั้งใจทำหลักสูตรใหม่เพื่อใช้เรียนร่วมกัน เช่น วิชาความดี ส่วนวิชาที่เหลือให้เด็กสามารถเลือกเรียนเองได้ เพราะจะไปสัมพันธ์กับอาชีพในอนาคต

1 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments