เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 ที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ได้จัดงานประชุมวิชาการ”พลิกโฉมโรงเรียนสร้างต้นแบบนวัตกรรมครู สู่ นวัตกรรมนักเรียน” เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ.ในสถานศึกษาจังหวัดอุดรธานี หนองคาย เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนรูปแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ที่ส่งผลต่อนวัตกรรมของผู้เรียน และเพื่อถอดบทเรียนการดำเนินงานพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนรูปแบบ Active Learning สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า เนื่องจากเราต้องการปฏิรูปการเรียนรู้ใหม่ให้ถึงสมรรถนะ โดยมีการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 เป็น หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560 เป็นการต่อยอดจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดให้ผู้เรียนมีสมรรถนะ 5 ประการ ได้แก่ ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต และความสามารถในการใช้ เทคโนโลยี จากนั้นก็มีการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้ถึงสมรรถนะด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งการจัดการเรียนการสอนด้วย Active Learning ก็คือปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน จึงทำให้เกิดการพัฒนาครู เพื่อไปปรับปรุงการเรียนการสอนจนเกิดเป็นนวัตกรรม นวัตกร โดยผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps

“การที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ปูพรมการจัดการเรียนการสอนด้วย Active Learning ทุกภูมิภาค ก็เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอนใหม่ทั้งระบบในโรงเรียน ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นโรงเรียนคุณภาพในเรื่องการจัดการเรียนการสอน สอดคล้องกับนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพราะโรงเรียนคุณภาพมีองค์ประกอบหลายด้าน ทั้งอาคาร สถานที่ ห้องเรียน ครุภัณฑ์ อุปกรณ์การเรียนการสอน สื่อ อุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ รวมถึงกระบวนการจัดการเรียนการสอน ซึ่งกระบวนการ GPAS 5 Steps สามารถตอบโจทย์ได้ และสุดท้ายคือ ครูต้องมีศักยภาพและสมรรถนะ ทั้งนี้เพื่อให้โรงเรียนทั้งประเทศมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน แต่เนื่องจากเรามีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ จึงไม่สามารถทำให้เกิดพร้อมกันได้ทั้งประเทศ เพราะต้องใช้งบประมาณมหาศาล จึงต้องเริ่มขยับที่ระดับอำเภอก่อน โดยมีข้อแม้ว่าเด็กโรงเรียนอื่น ๆ ต้องสามารถเข้าไปใช้ทรัพยากรแหล่งเรียนรู้ร่วมกันได้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะเด็กที่อยู่ในโรงเรียนนั้นเท่านั้น”เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

ดร.เอกราช ดีนาง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้ เป็นโครงการต่อเนื่องในการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบตามโครงการ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีครูเข้าร่วมอบรมในโครงการกว่า 3,000 คน และได้รับคัดเลือกมาเป็นครูต้นแบบจำนวน 316 คน และในครั้งนี้ มีโรงเรียนต้นแบบในพื้นที่เข้าร่วมประชุม จำนวน 18 โรงเรียน และโรงเรียนเครือข่ายจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ จำนวน 10 โรงเรียน ใน 10 จังหวัด มานำเสนอผลงานนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูและนวัตกรรมนักเรียน ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดี ที่โครงการนี้มีความคืบหน้าไปด้วยดี

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments