เมื่อวันที่ 24 มกราคม พลตำรวจเอก เพิ่มพูน  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศึกษาธิการ) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารศธ. ว่า วันนี้ที่ประชุมได้หารือ กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติยกเว้นการอยู่เวรของครูในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)สำนักงานส่งเสรืมการเรียนรู้(สกร.)และหน่วยงานที่มีสถานศึกษาสังกัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามจากข้อมูลเบื้องต้นแม้ว่าจะมีกล้องวงจรปิด ก็ไม่สามารถป้องกันเหตุร้ายได้ แต่การให้ครูอยู่เวรนอกราชการ ก็ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยง ซึ่งครม.ได้พิจารณาถึงความเสียหายในชีวิตและร่างกายเป็นสำคัญ ที่จะต้องพยายามรักษาป้องกันไม่ให้เกิดภัยต่อชีวิตและร่างกายของครู ซึ่งมีภาระงานในการสอนหนังสือ ทั้งนี้หลังยกเลิกมติดังกล่าวครม. ครม.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) และฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย(มท.) เข้ามาช่วยดูแล ส่วนที่มีกระแสว่า เป็นการเพิ่มภาระให้ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะเป็นหน้าที่หลัก ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองอยู่แล้วในการดูแลความสงบเรียบร้อย เช่น ธนาคาร ร้านทอง ที่ต้องมีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยดูแลเป็นพิเศษ เพียงแต่อาจจะเพิ่มจุดเน้นดูแลสถานศึกษาเพิ่มขึ้นเท่านั้น

“ตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการได้มีหนังสือประสานไปที่ สตช. และมท. เรียบร้อยแล้ว เพื่อบูรณาการดูแลความปลอดภัยร่วมกัน ระดับจังหวัด ก็ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ประสานงานกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ให้เข้ามาดูแล ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรวดเร็วกรณีที่ไม่มีครูอยู่โรงเรียน ในส่วนของสถานศึกษา ก็ได้สั่งการให้มีการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา โดยขอให้เชิญ ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาหารือ มาตรการป้องกันความปลอดภัยให้กับสถานที่ราชการ เพื่อเป็นการรองรับมติครม. ส่วนเรื่องการอยู่เวร เมื่อครม.มีมติดังกล่าวออกมาแล้ว ครูที่ไม่อยู่เวรก็ถือว่าไม่มีความผิดทางวินัย เพราะได้รับการยกเว้นแล้ว จากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็จะต้องไปปรับแก้ระเบียบต่าง ๆ เพื่อรองรับมติครม. แต่หากครูต้องการมาทำงานที่โรงเรียนนอกเวลาราชการ ก็ให้เป็นไปตามความสมัครใจ โดยขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยส่วนตัวด้วย เช่น เข้ามาในห้องทำงานแล้ว ก็ควรล็อกประตูให้เรียบร้อย  ให้มีเพื่อนมาอยู่ด้วย เพราะเราห่วงเรื่องความปลอดภัยในชีวิต ซึ่งไม่มีสิ่งที่จะมาทดแทนได้ ไม่เหมือนความเสียหายต่อทรัพย์สิน ทียังหาทดแทนได้ จึงอยากให้ประชาชนได้เข้าใจตรงจุดนี้ด้วย”รมว.ศึกษาธิการ  กล่าว

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวอีกว่า ทั้งนี้มติครม.ดังกล่าว มีผลในทางปฏิบัติทันที อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาก็ได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษาอยู่แล้ว  แต่เมื่อมีมติครม.เป็นสภาพบังคับหน่วยงานที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศก็ต้องดำเนินการด้วยความเข้มข้นมากขึ้น นอกจากนี้จะมีการสำรวจโรงเรียนทั่วประเทศว่า มีกล้องวงจรปิดกี่แห่ง ส่วนจะต้องเพิ่มกล้องวงจรปิดให้กับโรงเรียนที่ยังไม่มีหรือไม่นั้น ต้องหารือร่วมกันอีกครั้ง  เพราะแม้จะมีกล้องวงจรปิดการมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดูแลก็เป็นสิ่งสำคัญ ช่วยป้องกันไม่ให้มีเหตุร้ายเกิดขึ้น ขณะที่บางโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต การมีกล้องวงจรปิดก็อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็น  การดำเนินการดังกล่าว จะเป็นลักษณะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตรวจเยี่ยม คล้ายโครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจ เพียงแต่เพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของสังคมและชุมชนที่จะต้องช่วยกันดูแลทรัพย์สินของส่วนรวม  ส่วนการของบประมาณจัดจ้างธุรการ ภารโรง เพิ่มนั้น ก็เป็นเรื่องที่ยังต้องดำเนินการ เพราะเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่า โรงเรียนขนาดเล็กมีครูน้อย หากมีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำเข้ามาช่วยดูแลโรงเรียนก็จะเป็นการลดภาระครู คืนครูสู่โรงเรียน เพื่อให้ครูสอนหนังสือได้เต็มที่ โดยตั้งเป้าว่าจะต้องมีธุรการ นักการภารโรงครบทุกโรงเรียน ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็รับปากว่า จะดูแลเรื่องนี้ให้

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments