เมื่อวันที่ 4 มีนาคม  2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)  เป็นประธานการประชุมกำหนดแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนศูนย์ทดสอบ ศูนย์ประเมินมาตรฐานฝีมือองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพหรือมาตรฐานสากล ภายใต้นโยบายการจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) โดยมีผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษา และบุคลากร สอศ. พร้อมทั้ง นายปิยะ แสงทิพย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการทดสอบมาตรฐาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และนางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม 5 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting)

นายยศพล กล่าวว่า การขับเคลื่อนศูนย์ทดสอบ ศูนย์ประเมินฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของภาคประกอบการ โดยการเชื่อมโยงการศึกษากับโลกอาชีพด้วยกลไกฐานอาชีพจากองค์กรรับรองมาตรฐานอาชีพและสอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สร้างความพร้อม ทางเลือก และความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพให้กับผู้สำเร็จการศึกษาจากสถานศึกษาอาชีวศึกษาในการเข้าสู่อาชีพที่หลากหลาย ตามความสนใจความถนัด และส่งเสริมการสะสมประสบการณ์ทางอาชีพทั้งในระหว่างเรียนและการทำงานเพื่อเป็นกำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคประกอบการต่อคุณภาพผู้สำเร็จอาชีวศึกษา ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบ ศูนย์ประเมินฯ จากหน่วยงานอื่น ๆ ในสถานศึกษาอาชีวศึกษาที่ยังไม่มีการจัดตั้ง อย่างน้อยสถานศึกษาละ 1 มาตรฐานอาชีพ/ในระดับจังหวัดเพื่อยกระดับทักษะและสมรรถนะของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ในการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรับรองมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ โดยจุดเน้นของนโยบาย คือการจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่มเพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพด้วยการนำหน่วยกิต ที่สะสมมาใช้เทียบคุณวุฒิ รับรองมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสายอาชีวศึกษาสามารถขอการรับรองมาตรฐานวิชาชีพ ได้ในระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ในระบบเพื่อให้ผู้เรียนมีทางเลือกที่จะมีรายได้ระหว่างเรียน ควบคู่กับการทำงานไปพร้อมกัน “1 ใบ 1 Certificate” สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) และส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน (Learn to earn) และนโยบายการพัฒนาอาชีวศึกษา 8 วาระงาน “พัฒนาทักษะวิชาชีพเพื่อลดภาระของผู้เรียนและผู้ปกครอง (Skill Certificate)” ของ สอศ. ซึ่งพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบให้ สอศ. ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ

เลขาธิการกอศ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานการจัดตั้งศูนย์ทดสอบ ศูนย์ประเมินฯ มีแนวทางในการดำเนินการใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 สร้างความเข้มแข็งสถานศึกษาที่จัดตั้งแล้วเพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน กลุ่มที่ 2 ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ในสถานศึกษาที่ยังไม่มีการจัดตั้ง กลุ่มที่ 3 ส่งเสริมการเชื่อมโยงมาตรฐานอาชีพกับหลักสูตรอาชีวศึกษา (ทุกสถานศึกษา) โดยได้กำหนดแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ทดสอบฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567-2568 เพื่อนำไปสู่การจัดทำประกาศแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์ทดสอบๆ โดยแผนระยะที่ 1 ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบฯ ระดับจังหวัด 77 จังหวัด สถานศึกษาภาครัฐ (จัดตั้งแล้ว 68 จังหวัด) แผนระยะที่ 2 ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบฯ ระดับสถานศึกษา กลุ่มสถานศึกษา CVM (Center of Vocational Manpower Networking Management) จำนวน 100 แห่ง ปัจจุบันจัดตั้งแล้ว 70 แห่ง กลุ่มสถานศึกษา Excellent Center จำนวน 220 แห่ง ปัจจุบันจัดตั้งแล้ว 170 แห่ง และแผน ระยะที่ 3 กลุ่มสถานศึกษาที่มีความพร้อมดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทดสอบฯ และสถานศึกษาที่เคยเปิดศูนย์ทดสอบฯ แต่ปัจจุบันได้ปิดศูนย์ทดสอบฯ ไปแล้ว 25 ศูนย์

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments