เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 ดร.ธนู ขวัญเดช เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ สำนักงาน ก.ค.ศ. หารือร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาลดภาระครู โดยเฉพาะภาระที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน เช่น งานพัสดุ การเงิน ธุรการ เนื่องจากภาระงานเหล่านี้ส่งผลให้ประสิทธิภาพการเรียนการสอนของครูลดลง และมอบหมายให้ สำนักงาน ก.ค.ศ.ดูเรื่องวิทยฐานะของข้าราชการครู ทั้งหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ต้องทบทวนให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ มีความยืดหยุ่น และสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของแต่ละส่วนราชการ นั้น ทั้ง 2 เรื่องถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ รมว.ศึกษาธิการ ให้ความสำคัญเพื่อให้ครูมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน ซึ่ง สำนักงาน ก.ค.ศ.จะเร่งดำเนินการเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ครูต่อไป
เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวต่อไปว่า เบื้องต้นในส่วนของการลดภาระครูตนจะหารือ กับ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) โดยจะขออัตรากำลังครูซึ่งเป็นอัตราว่างที่เกินเกณฑ์ ของ สพฐ.มาเปลี่ยนเป็นตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) หรือ บุคลากรสายสนับสนุน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ภาระงานอื่นที่ไม่ใช่งานสอนแทนครู โดยจะขอให้ สพฐ.ทำการสำรวจอัตราว่างในโรงเรียนทั่วประเทศมาก่อน แล้วจะนำเสนอ รมว.ศึกษาธิการ แล้วเข้าสู่การพิจารณาของ อ.ก.ค.ศ.เพื่อเปลี่ยนตำแหน่ง แล้วค่อยมาพิจารณาจัดสรรให้แก่โรงเรียนที่ไม่มีอัตราตำแหน่ง แต่ต้องการบุคลากรสายสนับสนุน โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 40 คน ซึ่งมีประมาณ 5,000 โรงเรียนก่อน
“แนวทางนี้ไม่ใช่เปลี่ยนตำแหน่งครูที่ทำการสอนอยู่แล้วให้มาเป็นบุคลากรทางการศึกษาอื่น มาตรา 38 ค.(2) แต่เป็นการเกลี่ยอัตราว่างที่เกินเกณฑ์ ซึ่งไม่สามารถบรรจุเป็นครูสายงานสอนได้มาเป็นบุคลากรสายสนับสนุนให้แก่โรงเรียนที่ไม่มีอัตราตำแหน่งแต่ต้องการคน เพื่อเป็นการลดภาระงานครู โดยไม่จำเป็นต้องไปเพิ่มอัตรากำลังข้าราชการ ที่จะเป็นภาระกับงบประมาณของประเทศในอนาคต กรอบอัตรากำลังก็ยังคงเท่าเดิมไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เปลี่ยนตำแหน่งให้มาทำงานได้” ดร.ธนูกล่าวและว่า อย่างไรก็ตามแนวทางนี้ยังไม่ใช่ข้อสรุป เป็นเพียงแนวทางเท่านั้น จะต้องหารือกับ สพฐ.ก่อน และต้องเสนอ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาด้วย