เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ปะทะบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยมีนักเรียนรวมอยู่ด้วยนั้น ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีข้อสั่งการให้ดำเนินการเร่งเยียวยาโดยด่วน ทั้งในระยะสั้น (ภายใน 7–30 วัน) ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา และเยียวยาจิตใจในช่วงอพยพ รวมถึงในระยะยาว (ภายใน 3–12 เดือน) เพื่อฟื้นฟูโอกาสทางการศึกษาในเขตชายแดน และเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุซ้ำ ซึ่ง สพฐ. จะร่วมเยียวยาครอบครัวนักเรียนที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดได้รับรายงานจากนางรัตติกร ทองเนตร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ศรีสะเกษ ยโสธร ว่า หลังเกิดเหตุปะทะทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ได้ให้โรงเรียนในสังกัดที่ติดขอบชายแดนไทย-กัมพูชา ทำการอพยพนักเรียนและปิดการเรียนการสอนอย่างเร่งด่วน พร้อมกำชับสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่งให้สอดส่องความปลอดภัยของนักเรียน และดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สั่งการกำชับไว้

นอกจากนี้ได้รับรายงานจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2568 เวลา 18.00 น.ว่า มีโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ปิดเรียนแล้ว จำนวน 751 โรงเรียน ได้แก่ สพป.อุบลราชธานี เขต 5 ปิด 95 โรงเรียน สพม.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ปิด 4 โรงเรียน สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 ปิด 45 โรงเรียน สพป.ศรีสะเกษ เขต 4 ปิด 132 โรงเรียน สพม.ศรีสะเกษ ปิด 12 โรงเรียน สพป.บุรีรัมย์ เขต 2 ปิด 47 โรงเรียน สพป.บุรีรัมย์ เขต 3 ปิด 34 โรงเรียน สพม.บุรีรัมย์ ปิด 4 โรงเรียน สพป.สุรินทร์ เขต 3 ปิด 233 โรงเรียน สพม.สุรินทร์ ปิด 25 โรงเรียน สพป.สระแก้ว เขต 1 ปิด 27 โรงเรียน สพป.สระแก้ว เขต 2 ปิด 71 โรงเรียน สพม.สระแก้ว ปิด 7 โรงเรียน และสพป.จันทบุรี เขต 2 ปิด 15 โรงเรียน

“ผู้บริหาร สพฐ. และผู้บริหาร สพท. จะลงพื้นที่ประเมินสถานการณ์อย่างเร่งด่วน โดยประชุมหารือเพื่อแจ้งแนวปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนหลังจากนี้ ตลอดจนแจ้งให้ผู้ปกครองรับทราบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ สพฐ. ได้แจ้งกำชับ สพท. และสถานศึกษาทุกแห่งในเขตพื้นที่จังหวัดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ ตราด จันทบุรี สระแก้ว อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ให้เตรียมวางแผนหารูปแบบการจัดการศึกษาร่วมกับคุณครูและผู้ปกครอง เพื่อให้เหมาะสมกับนักเรียน และให้ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุและแนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัด พร้อมเฝ้าระวังผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว และเตรียมพร้อมใช้พื้นที่ของโรงเรียนที่ปลอดภัยเป็นศูนย์พักพิงหรือให้ความช่วยเหลือชั่วคราวแก่ประชาชนในพื้นที่ต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments