นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวถึงกรณีมีเสียงวิพากพวิจารณ์เกี่ยวกับข้อเสนอของบอร์ด กพฐ.ที่แบ่งกลุ่มโรงเรียนในการรับนักเรียนเป็นกลุ่มที่รับเด็กจากทั่วประเทศด้วยการสอบ 100% และ กลุ่มที่รับเด็กในเขตพื้นที่บริการเหมือนปัจจุบัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำ เพราะวันนี้โรงเรียนทั่วประเทศมีคุณภาพไม่เท่ากัน ดังนั้นโรงเรียนที่ไม่ใช่โรงเรียนแข่งขันสูงก็ต้องดึงศักยภาพของตัวเอง สร้างจุดเด่นพัฒนาให้เป็นโรงเรียนดังให้ได้ แม้โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลก็สามารถให้เด็กได้เรียนกับครูเก่ง ๆ เหมือนเรียนโรงเรียนดังได้โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ อีกทั้งวิธีนี้ยังเป็นช่องทางสกัดปัญหาการเรียกแป๊ะเจี๊ยะได้ด้วย
“สำหรับที่กังวลว่าเด็กจะแห่ไปกวดวิชามากขึ้นนั้น เราต้องเปลี่ยนวิธีการออกข้อสอบให้เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์ พร้อมกับทักษะที่เด็กควรจะมี ซึ่งเชื่อว่าโรงเรียนกวดวิชาไม่มีทางสอนได้ ถ้าทำได้การที่เด็กแห่ไปกวดวิชาก็จะหมดไปเอง ส่วนการแก้ปัญหาโรงเรียนขยายโอกาสก็ควรสนับสนุนการเรียนสายอาชีพมากกว่าการขยายการเรียนสามัญ โดยปรับให้เหมาะกับบริบทพื้นที่และชุมชน อย่างไรก็ตามเร็ว ๆ นี้ ผมจะเสนอ ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ ปฎิบัติหน้าที่เลขาธิการ กพฐ.ให้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงเกณฑ์รับนักเรียน ปี 2563 ด้วย โดยผมมีแนวคิดจะเสนอให้ปรับลดจำนวนนักเรียนในโรงเรียนที่มีอัตราแข่งขันสูงจากห้องละ40 คน เหลือ 35 คน เพื่อกระจายเด็กไปเรียนในโรงเรียนอื่นบ้าง”ประธาน กพฐ.กล่าว