เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา “อะคิตะโมเดล (Akita Model : ประสบการณ์ และการนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของประเทศไทย” ที่โรงแรมอมารีวอเตอร์เกต ประตูน้ำ กรุงเทพฯ ว่า สกศ.ได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) และคณะกรรมการการศึกษาแห่งจังหวัดอะคิตะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนกิจกรรมในชั้นเรียนของโรงเรียนนำร่อง 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนราชมนตรี โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ ฯ โรงเรียนประชาอุปถัมภ์ และโรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ เทศบาลนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 ในรูปแบบการเรียนรู้เชิงรุก(Akita Action) ซึ่งเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ไทยอะคิตะที่เริ่มต้นและเป็นต้นแบบการเรียนรู้ในโรงเรียนไทย ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนในชั้นเรียน เพื่อสร้างบรรยากาศ การจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยแบ่งเวลาภายในหนึ่งคาบเรียนรู้ที่ผสมผสานระหว่างการตั้งคำถามการแสวงหาคำตอบ ทั้งแบบกลุ่มและรายบุคคล รวมทั้งการลงมือปฏิบัติ เช่นเดียวกรณีศึกษาของจังหวัดอะคิตะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ใช้การสอนเชิงรุกแบบอะคิตะโมเดลในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนในจังหวัดอาคิตะได้สำเร็จ โดยมีผลการประเมิน PISA สูงขึ้น และมีผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของจังหวัดดีขึ้นเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของประเทศญี่ปุ่น

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า ตนเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพและความถนัดที่แตกต่างกัน จึงต้องมีการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กที่มีความเหมาะสมกับแต่ละคน ท้ายที่สุดครูเป็นผู้สรุปบทเรียนการเรียนรู้เหมือนกับชั้นเรียนอะคิตะ ประเทศญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการเพิ่มทักษะความรู้และทักษะชีวิตของผู้เรียนมาแล้ว ดังนั้น หากมีการวางแผนตั้งแต่ระดับประเทศ เขตพื้นที่การศึกษา และระดับสถานศึกษา เชื่อว่าสามารถขับเคลื่อนปฏิรูปชั้นเรียนไทยเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพได้ ซึ่งสกศ.ได้ดำเนินการศึกษาแนวทางและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 อย่างต่อเนื่อง โดยเลือกใช้รูปแบบการสอนเชิงรุกแบบอะคิตะ (Akita Action) ที่มีขั้นตอนของการจัดกิจกรรม 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1.รู้จักตั้งข้อสังเกตในการเรียนรู้ 2.มีความคิดเป็นของตนเอง 3. อภิปรายกันเป็นคู่ เป็นกลุ่ม เป็นชั้นเรียน และ 4.ทบทวนเนื้อหาและการเรียนรู้ โดยวิธีการดังกล่าวมุ่งให้เกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งผ่านการคิดด้วยตนเองและการสนทนาโต้ตอบ ทั้งนี้ได้วิจัยรูปแบบดังกล่าวทดลองในสถานศึกษาไทยแล้ว

ด้าน ดร.เฉลิมชัย มนูเสวต ที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของการเรียนรู้เชิงรุกอะคิตะ มี 5 ปัจจัย 1.ครูผู้สอน 2.ครอบครัว ชุมชน 3.ความร่วมมือหน่วยจัดการศึกษาที่เกี่ยวข้อง 4.การขับเคลื่อนงานศึกษานิเทศก์เชิงรุก รวมถึงความเข้มแข็งของคณะกรรมการสถานศึกษา และ 5.การขับเคลื่อนการเรียนรู้ตามแนวทางการสอนเชิงรุกแบบอะคิตะ ซึ่งต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการขับเคลื่อนพัฒนาไปพร้อมกัน และขยายผลไปยังโรงเรียนในสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี รวมถึงโรงเรียนในเครือข่ายสภาคริสตจักรในประเทศไทย

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments