เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงข่าวผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD รอบการประเมิน PISA 2018 ร่วมกับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ประธานคณะกรรมการ PISAแห่งชาติ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ  ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ และศ.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)

นพ.ธีรเกียรติ กล่าวว่า  การประเมิน PISA 2018 เน้นการประเมินด้านการอ่าน โดยมีนักเรียนจาก 79 ประเทศเข้าร่วมประมาณ 600,000 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 32 ล้านคนทั่วโลก  ทั้งนี้สำหรับประเทศไทยสสวท.ทำหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติดำเนินการจัดสอบเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง 8,633 คน จาก 290 โรงเรียนในทุกสังกัดเข้าร่วม โดยนักเรียนได้ทำแบบทดสอบและแบบสอบถามทางคอมพิวเตอร์ผ่านแฟลชไดรฟ์ข้อสอบนอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียนผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ด้วย

 นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม จากผลการประเมิน PISA 2018 ในระดับนานาชาติ พบว่า นักเรียนจากจีนสี่มณฑล ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง และประเทศสิงคโปร์ มีคะแนนทั้งสามด้านสูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ สำหรับประเทศที่มีคะแนนสูงสุดห้าอันดับแรกในด้านการอ่านซึ่งเป็นด้านที่เน้นในรอบการประเมินนี้  ได้แก่ จีนสี่มณฑล สิงคโปร์  มาเก๊า  ฮ่องกง และเอสโตเนีย ส่วนผลการประเมินนักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยในด้านการอ่าน 393 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 487 คะแนน) คณิตศาสตร์ 419 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) และวิทยาศาสตร์ 426 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน)  ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ PISA 2015 พบว่า ด้านการอ่านมีคะแนนลดลง 16 คะแนน  ส่วนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีคะแนนเพิ่มขึ้น 3 คะแนน และ 4 คะแนน ตามลำดับ  ซึ่งถือว่าด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับรอบการประเมินที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเมื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของคะแนนตั้งแต่การประเมินรอบแรกจนถึงปัจจุบัน พบว่า ผลการประเมินด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของไทยไม่เปลี่ยนแปลง  แต่ผลการประเมินด้านการอ่านมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

 “ประเทศไทยกลุ่มโรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศ/เศรษฐกิจที่มีคะแนนสูงสุด5อันดับแรกและกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ส่วนกลุ่มโรงเรียนอื่น ๆ ยังคงมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD  ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความแตกต่างของคะแนนระหว่างนักเรียนกลุ่มที่มีคะแนนสูง กับนักเรียนกลุ่มที่มีคะแนนต่ำ ในภาพรวมพบว่า มีช่องว่างของคะแนนประมาณ 200 คะแนน โดยแนวโน้มความแตกต่างในด้านการอ่านและวิทยาศาสตร์ยังคงที่ ส่วนด้านคณิตศาสตร์มีช่องว่างของคะแนนกว้างขึ้น เนื่องจากนักเรียนกลุ่มสูงมีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้น ในขณะที่นักเรียนกลุ่มต่ำมีคะแนนเฉลี่ยลดลง  ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความแตกต่างระหว่างเพศ พบว่า นักเรียนหญิงมีคะแนนสูงกว่านักเรียนชายในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการอ่านที่นักเรียนหญิงมีคะแนนสูงกว่านักเรียนชายถึง 39 คะแนน”นพ.ธีรเกียรติ กล่าวและว่า จากการประเมิน PISA ที่ผ่านมา มีข้อสังเกตที่สำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรก ผลการประเมินชี้ว่า ระบบการศึกษาไทยมีส่วนหนึ่งที่มีคุณภาพและสามารถพัฒนานักเรียนให้มีความสามารถในระดับสูงได้  หากระดับนโยบายสามารถสร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษา  โดยขยายระบบการศึกษาที่มีคุณภาพไปให้ทั่วถึง ประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้ ประการที่สอง นักเรียนไทยทั้งกลุ่มที่มีคะแนนสูงและกลุ่มที่มีคะแนนต่ำมีจุดอ่อนอยู่ที่ด้านการอ่าน ซึ่งใน PISA 2018 เป็นการประเมินการอ่านเนื้อหาสาระที่มาจากทั้งแหล่งข้อมูลเดียวและหลายแหล่งข้อมูล อีกทั้งสื่อที่นักเรียนได้อ่านส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลซึ่งสะท้อนถึงธรรมชาติของการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของโลกและสอดคล้องกับการใช้ข้อมูลในชีวิตจริงของผู้คนทั่วโลก  ดังนั้น ระบบการศึกษาไทยจึงควรส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปในการเรียนการสอนเพื่อสร้างความคุ้นเคยและยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนในยุคดิจิทัลต่อไป และประการที่สามแนวโน้มคะแนนการอ่านของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง และความฉลาดรู้ด้านการอ่านมีความสัมพันธ์กับความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์  ระบบการศึกษาไทยจึงต้องยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนอย่างเร่งด่วน

แต่ก็น่าเป็นที่สังเกตว่าคะแนนการอ่านทั่วโลกลดลง และปีนี้ไม่มีการจัดอันดับประเทศ เนื่องจากคะแนนทั้ง 3 ด้านของแต่ละประเทศสูง ต่ำไม่เท่ากันยากต่อการจัดอันดับ และอยากให้แต่ละประเทศดูคะแนนของตัวเองเพื่อนำมาปรับปรุง มากกว่าไปแข่งกับประเทศอื่น  

อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของการประเมิน PISA เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่งเป็นวัยที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกๆ 3 ปี เพื่อติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาและมุ่งให้ข้อมูลแก่ระดับนโยบาย การประเมินของ PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน หรือเรียกว่า “ความฉลาดรู้” (Literacy) ได้แก่ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (Reading Literacy)  ความฉลาด รู้ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy)  และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) การประเมินนักเรียนจะวัดทั้ง 3 ด้าน ดังกล่าวไปพร้อมกัน แต่จะเน้นหนักในด้านใดด้านหนึ่งในแต่ละรอบการประเมิน

ด้านนายณัฐฎพล กล่าวว่า ผลคะแนนขยับขึ้นในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แสดงให้เห็นว่าในการทำงานของศธ.ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ ส่วนในเรื่องคะแนนการอ่านที่ลดลงมีผลจะต้องปรับปรุง ซึ่งขณะนี้เรากำลังปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีการอ่านและวิเคราะห์มากขึ้น ขณะเดียวกันในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำเราก็ต้องทำ  และเชื่อว่าในอีก2 ปีข้างหน้าที่จะมีการสอบPISA อีกครั้ง ไม่ว่าจะสุ่มไปที่ไหนตนเชื่อว่าเด็กจะทำคะแนนได้ดีกว่าเดิมแน่นอน

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments