ดร.ชฎาณัฎฐ์ ปิยะวิบูลย์ รองคณบดีพื้นที่ศาลายา คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์  เปิดเผยถึงการจัดการเรียนการสอนของคณะบริหารธุรกิจ พื้นที่ศาลายา ว่า ในยุคสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล การจัดการเรียนการสอนก็จำเป็นต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ การใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดการเรียนการสอนมีความจำเป็นอย่างมาก และเนื่องจากนโยบายของคณะต้องการให้การจัดการเรียนการสอนเป็นระบบออนไลน์มากขึ้น นักศึกษาไม่จำเป็นต้องเข้าชั้นเรียนก็สามารถเรียนรู้ได้ผ่านทางออนไลน์ แต่ขณะเดียวกันภาพรวมของคณะบริหารธุรกิจพื้นที่ศาลายา ก็ยังเน้นผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ นักศึกษาต้องได้ทำงานสหกิจตามสถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อจะได้มีโอกาส ฝึกประสบการณ์ในสถานที่ทำงานจริง ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมาหลายรุ่น พบว่า เมื่อเด็กกลับจากการฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการ จะเห็นพฤติกรรมที่ดีขึ้น เพราะตอนเรียนอยู่ในห้องเรียนอาจจะยังมีความเป็นเด็ก แต่พอได้ไปฝึกประสบการณ์ได้ทำงานจริง เห็นชัดเลยว่ามีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น

“สำหรับอาจารย์ในแต่ละสาขา ทางคณะเราก็ได้เน้นย้ำว่า ให้เน้นเรื่องการปฏิบัติ เช่น หลักสูตรการจัดการ จะมีห้องปฏิบัติงานให้เด็กได้ฝึกระหว่างเรียน หลักสูตรการตลาดก็จะให้เด็กได้ทำอีเว้นต์ โดยให้ฝึกคิดตั้งแต่กระบวนการแรกจนออกมาเป็นชิ้นงาน ซึ่งทั้งหมดจะต่างจากในอดีตที่จะเรียนแต่ทฤษฎีล้วน ๆ แต่ปัจจุบันจะให้อาจารย์พาเด็กออกไปดูงาน นำความรู้จากห้องเรียนออกไปปฏิบัติจริง และที่สำคัญการจัดการเรียนการสอนก็กำลังปรับให้เป็นระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของคณะ ว่า ทุกสาขาจะต้องมีอย่างน้อย 1 หรือ 2 วิชาที่ต้องจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อปรับให้เข้ากับยุคดิจิทัล อีกทั้งพฤติกรรมการเรียนของเด็กก็ไม่เหมือนเดิมดังนั้น เราจะต้อองปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง โดยค่อย ๆ ขยับไป เป็นนวัตกรรมการเรียนการสอนของคณะบริหารธุรกิจ เพื่อให้บัณฑิตที่จบออกไปเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติ สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ ในยุคดิสรัปชั่น”ดร.ชฎาณัฎฐ์กล่าว

คณะบริหารธุรกิจ พื้นที่ศาลายา จัดการเรียนการสอน 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาการตลาด สาขาวิชาการจัดการ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ และ สาขาวิชาบริหาธุรกิจระหว่างประเทศ(หลักสูตรนานาชาติ)  โดยสาขาการจัดการอุตสาหกรรม ได้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนที่มีการบูรณาการความรู้ภาคต่าง ๆ  ด้วยแนวคิดการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ให้สามารถคิดนวัตกรรมใหม่ และส่งออกไปประกวดแข่งขันในเวทีต่าง ๆ เพื่อให้เด็กได้สัมผัสกับการปฏิบัติจริง ขณะเดียวกันก็จะส่งเด็กไปฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการจริง ๆ ทั้งในภาคการบริการ ภาคการผลิต และภาคพาณิชย์ นอกจากนี้ปีการศึกษา 2563 กำลังจะเปิดสาขาการจัดการและโซ่อุปทาน เพื่อให้รองรับการเพิ่มผลผลิตอย่างมีคุณภาพและเพิ่มผลประกอบการให้แก่ผู้ผลิตโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยหรือเอสเอ็มอี

สำหรับสาขาวิชาการบัญชี มีทั้งหลักสูตรภาคปกติและภาคสมทบ ซึ่งการจัดการเรียนการสอนโดยฉพาะในส่วนของภาคปกติจะเน้นการทำกิจกรรมกับผู้ประกอบการมากขึ้น ไม่ได้เน้นการเรียนทฤษฎีอย่างเดียว โดยจะมีสำนักงานสอบบัญชี สถาบันตรวจสอบภายใน หลายแห่งเข้ามาร่วมจัดกิจกรรมเพื่อให้นักศึกษามีประสบการณ์ในการทำงานจริง นอกจากนี้ยังมีระบบสหกิจที่จะทำให้นักศึกษาได้เข้าไปทำงานอย่างจริงจัง ซึ่งพบว่านักศึกษาที่จบออกไปเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน บัณฑิตทุกคนมีงานทำ 100% หลายครั้งที่สถานประกอบการเข้ามาจองตัวตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ

สาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ จัดการเรียนการสอนการบริหารธุรกิจ และสอนในรายวิชาหลักเป็นภาษาอังกฤษ มุ่งที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ ปรับรูปแบบการสอนเอื้อกับนักศึกษา ให้นักศึกษาสามารถพัฒนาทักษะที่ตนเองสนใจไปพร้อมกับการเรียนการสอนปกติได้ เช่น นักศึกษาที่เป็นนักกีฬาอาชีพ สามารถเรียนออนไลน์ได้  จัดการเรียนการสอนในกลุ่มขนาดเล็ก 15 -25 คน อาจารย์ดูแลได้ทั่วถึง อาจารย์ผู้สอนในรายวิชาหลักจบจากต่างประเทศทั้งหมด  มีอาจารย์ชาวต่างชาติ2ท่าน ผู้เรียนมีโอกาสได้รับทุนการศึกษา หรือ การไปเรียนแลกเปลี่ยนต่างประเทศสูง

สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ มี 3 วิชาเอก ได้แก่ การพัฒนาซอฟท์แวร์ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีมัลติมีเดีย และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเป็นหลักสูตร 4 ปี และหลักสูตรต่อเนื่อง รวมถึงมีหลักสูตรภาคสมทบที่เปิดปีการศึกษา 2562 เป็นปีแรก โดยนักศึกษาที่เรียนทุกคนจะได้เข้าร่วมสหกิจศึกษาเพื่อให้มีโอกาสฝึกประสบการณ์ทำงานจริง และก่อนจบบางรายวิชานักศึกษาจะต้องทำโปรเจกต์จบ เพื่อเป็นการทดสอบความรู้ก่อนจบการศึกษา เช่น อาจให้เขียนซอฟท์แวร์ เขียนโปรแกรม ผลิตสื่อหรือภาพยนตร์ เป็นต้น ทั้งนี้นักศึกษาจะสามารถปรึกษาอาจารย์ได้ทุกสาขาตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้บัณฑิตที่จบออกไปได้ความรู้ที่ครอบคุมรอบด้านทั้งจากสหกิจและจากอาจารย์สาขาต่าง ๆ  นอกจากนี้ทางสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจกำลังดำเนินการเรื่องของเครดิตแบงค์ให้นักศึกษาสามารถเรียนออนไลน์เพื่อสะสมหน่วยกิตได้ด้วย

สาขาวิชาการตลาด เป็นสหกิจศึกษา 100%  มี 3 หลักสูตรหลัก ได้แก่ การตลาด 4 ปี รับนักศึกษาที่จบ ม.6 และ ปวช. หลักสูตรเทียบโอน รับนักศึกษาที่จบ ปวส. และหลักสูตรภาคสมทบ นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรผลิตบัณฑิตพรีเมี่ยม ซึ่งร่วมกับบริษัท ซีพีออล จำกัด(มหาชน) เป็นหลักสูตร 4 ปี จัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรของมหาวิทยาลัย แต่นักศึกษาทุกคนได้ทุนจากซีพีออล 70% ออกเอง 30% เรียนจบแล้วใช้หนี้ 2 ปี โดยทำงานกับบริษัทซีพีออล หรือ บริษัทในเครือ อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัจจุบันสื่ออนไลน์เข้ามามีบทบาทกับทุกคนมากขึ้น ทางสาขาวิชาการตลาดจึงได้ปรับปรุงบทบาทและหลักสูตรให้เข้ากับความต้องการของตลาด โดยได้บรรจุวิชาดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งให้นักศึกษาได้เรียนเรื่องการทำตลาดออนไลน์ ซึ่งนักศึกษาจะสามารถขายของออนไลน์ได้จริงรวมถึงสามารถขายระบบออฟไลน์ได้

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments