เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช  เปิดเผยว่า  หลังจากเข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบอำนาจให้ กำกับ ดูแลและปฏิบัติราชการแทนในราชการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร ตามคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 570/2563 เรื่อง มอบอำนาจให้รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทน  และงานตามนโยบายของ  นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ  รมว.ศึกษาธิการ

ดร.เกศทิพย์ กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับนายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ  เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษา ซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ กระทรวงศึกษาธิการ (ศคพ.) โดยเป็นงานขับเคลื่อนร่วมกันระหว่าง สป.ศธ.  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)  สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)  และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)  โดยจะมีทีมงานลงพื้นที่ แก้ไขปัญหา และประสานทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้มีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นอีก

“ยังมีภารกิจที่สำคัญ คือ โครงการ Matrix Oraganization ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนภารกิจในพื้นที่จังหวัดนำร่อง 6 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี น่าน สตูล อุบลราชธานี ชลบุรีและกรุงเทพมหานคร  โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความซ้ำซ้อนของภารกิจแต่ละหน่วยงาน  และร่วมบูรณาการหน่วยงานจากทั้งภายในและภายนอกกระทรวงศึกษาธิการ จากอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ ภายใต้การดำเนินการของศึกษาธิการจังหวัด  ซี่ง นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ ให้ความสำคัญการพัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกันของทุกหน่วยงานโดยใช้พื้นที่เป็นฐานตามนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ โดยมีภาพความสำเร็จของงานตามบริบทของแต่ละจังหวัด และเน้นความร่วมมือของหน่วยงาน ที่ช่วยตอบโจทย์ทั้งเรื่องกำลังการผลิต อัตราการเข้าเรียน  การเพิ่มจำนวนนักเรียนอาชีวะ การเข้าสู่ตลาดแรงงาน การใช้นวัตกรรมและแหล่งการเรียนรู้ร่วมกันทั้งจังหวัด การแบ่งปันความรู้จากครูที่จบเอกวิชาเฉพาะร่วมกัน เป็นต้น”ผู้ช่วยปลัด ศธ.กล่าว

ดร.เกศทิพย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้รับมอบหมายให้ดูงานการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ    เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของภารกิจ และสร้างความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย  และยังมีภารกิจการประเมินและติดตามผลตัวชี้วัดด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาระบบราชการ และประมวลผลข้อมูลเพื่อความรวดเร็ว ทันกับการเปลี่ยนแปลง และสอดรับกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานทั้งระบบ  รวมถึงภารกิจการสร้างการรับรู้ที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในเป้าหมายภารกิจของกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน  เพื่อสะท้อนผลของตัวชี้วัดในภาพรวม และนำผลมาพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศให้อยู่ในระดับสากลต่อไป

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments