เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2563  รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและติดตามนโยบาย รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานอนุ ก.พ.อ. ด้านตำแหน่งวิชาการ ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงถึงประกาศ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.)   เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์(ผศ.)  รองศาสตราจารย์(รศ.)  และ ศาสตราจารย์(ศ.)  พ.ศ.2563  ที่ได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศได้แสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยมีทั้งสนับสนุนและไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์ใหม่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งมองว่าเป็นการเพิ่มความยุ่งยากมากกว่าเดิมนั้น

รศ.ดร.พีระพงศ์ กล่าวว่า ประกาศ ก.พ.อ.ฉบับนี้ เป็นการปรับปรุงเพื่อให้การเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการของคณาจารย์มีความเป็นสากล และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยเป็น  4 กลุ่ม ที่สอดคล้องกับการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทย และการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก และแก้ไขหลักเกณฑ์เดิมที่ไม่เหมาะสมและไม่ทันสมัย โดยได้มีการเชิญ  ผู้ทรงคุณวุฒิ  ศาสตราจารย์แต่ละสาขาวิชา คณะกรรมการวิชาการ ของแต่ละมหาวิทยาลัย  ร่วมกันแสดงความเห็น ซึ่งหลังจากที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  ก.พ.อ.จะมีการเดินสายชี้แจงมหาวิทยาลัยทุกแห่ง เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคณาจารย์ทุกคน และเผยแพร่ทางเฟสบุ๊กของ อว. และ รมว.อว.  อย่างไรก็ตามโดยหลักการแล้วยืนยันว่า เกณฑ์ใหม่นี้ให้โอกาสคณาจารย์เข้าสู่ตำแหน่งวิชาการได้หลากหลายวิธี และง่ายขึ้น แต่ไม่ได้ลดมาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการลง

ด้าน  ศ.ดร.ศันสนีย์ กล่าวว่า ประกาศ ก.พ.อ. มีรายละเอียดค่อนข้างมาก อยากขอให้คณาจารย์อ่านอย่างละเอียด ซึ่งเกณฑ์ใหม่ที่สำคัญที่เชื่อมั่นว่าจะทำให้คณาจารย์พอใจ คือ การยกเลิกการกำหนดสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของผู้ขอว่า ต้องมีส่วนร่วมไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 และยกเลิกการกำหนดสัดส่วนการมีส่วนร่วมของผู้ประพันธ์อันดับแรก หรือ ผู้ประพันธ์บรรณกิจ ซึ่งเดิมผลงานจะใช้เพื่อขอตำแหน่งวิชาการได้เพียงคนเดียว แต่เกณฑ์ใหม่จะสามารถมีผู้ขอตำแหน่งทางวิชาการขั้นต่ำได้มากกว่า 3 คน ขึ้นกับบทบาทหน้าที่ และการยกเลิกเปอร์เซ็นต์สัดส่วนผลงาน ก็ให้ใช้ลายเซ็นรับรองแค่ 2 คน คือ ผู้ประพันธ์อันดับแรก กับ ผู้ประพันธ์บรรณกิจ  ,มีการปรับลักษณะคุณภาพของผลงานวิชาการ จากเดิมคือ ระดับ ดี ดีมาก และดีเด่น เป็น ระดับ B ,B+,A และ A+ , การขอระดับศาสตราจารย์ เกณฑ์ใหม่กำหนดให้ผลงานทางวิชาการมีคุณภาพระดับ A+ หรือระดับดีเด่น อย่างน้อย 2 เรื่อง จากเดิมกำหนดที่ 5 เรื่องซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก นอกจากนี้ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องวิพากษ์วิจารณ์งานโดยใช้องค์ความรู้อย่างแท้จริง หากพิจารณาว่าผลงานไม่ผ่านเกณฑ์ก็ต้องมีคำชี้แจงที่ชัดเจนด้วย เพื่อให้ความยุติธรรมกับผู้เสนอ  ทั้งสามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments