เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2563 ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พร้อมด้วย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายพรชัย โพคันโย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 และหัวหน้าส่วนการศึกษาในจังหวัดอุดรธานี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ โรงเรียนอนุบาลอุดรธานี โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล โรงเรียนอุดรพัฒนาการ และโรงเรียนบ้านเลี่ยมพิลึก
โดย ดร.อำนาจ กล่าวว่า การตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในจังหวัดอุดรธานีวันนี้เพื่อดูภาพการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน โดยเน้นการดำเนินงานด้านความปลอดภัยตาม 6 มาตรการหลักของกระทรวงสาธารณสุข คือ 1) มาตรการคัดกรองวัดไข้และอาการเสี่ยงก่อนเข้าสถานศึกษา 2) สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่ออยู่ในสถานศึกษา 3) ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ 4) จัดให้มีการเว้นระยะห่าง 5) ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสที่มีการใช้ร่วมกันบ่อย และ 6) ลดความแออัดไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน อีกทั้งได้ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอน โรงอาหาร และติดตามการจัดทำอ่างล้างมือบริเวณหน้าโรงเรียนและในโรงเรียนตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า การลงพื้นที่วันนี้ทำให้เห็นภาพรวมการเตรียมความพร้อมของโรงเรียนในจังหวัดอุดรธานี ทั้งเรื่องการจัดชั้นเรียนที่มีการแบ่งเด็กเป็นกลุ่มสลับกันมาเรียนที่โรงเรียน เช่น โรงเรียนอนุบาลอุดรธานี แบ่งเด็กเป็นกลุ่ม A และ กลุ่ม B ให้สลับกันมาเรียนที่โรงเรียนในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ กับ อังคาร พฤหัส เสาร์ และจัดให้เด็กทานอาหารกลางวันที่ห้องเรียน ส่วน โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล แบ่งเป็น ม.ต้น กับ ม.ปลาย โดย .ต้นเรียน จันทร์ พุธ และศุกร์ ส่วน ม.ปลาย เรียน อังคาร พฤหัส หมายความว่า ม.ปลายจะได้เรียนผ่านทางออนไลน์มากกว่า ม.ต้น สำหรับอาหารกลางวันก็ให้เด็กลงไปทานที่โรงอาหารโดยโรงเรียนได้จัดฉากกั้น และจัดเวลาให้นักเรียนลงมาทานอาหารที่ชัดเจนเพื่อลดความแออัด เป็นต้น
“การตรวจเยี่ยมยังทำให้เห็นภาพความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนระหว่างโรงเรียนกับกรรมการสถานศึกษา ชุมชนและผู้ปกครอง ซึ่งตรงกับข้อมูลโรงเรียนทั่วประเทศว่าสามารถดำเนินการได้แล้ว และมีความพร้อมในการเปิดเรียน อย่างไรก็ตามสิ่งที่รู้สึกกังวลมากที่สุด คือ ผู้ปกครองอาจยังไม่เข้าใจ จึงต้องการให้โรงเรียนและครูทำความเข้าใจกับผู้ปกครองว่า ขณะนี้เรายังอยู่ในภาวะวิกฤตโควิด 19 เราต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้นักเรียนปลอดภัยจากเชื้อโรค ด้วยมาตรการที่เข้มข้นและเคร่งครัด อย่างละเอียดทุกขั้นตอน”ดร.อำนาจกล่าว
นายจักรพงษ์ ไชยพันธุ์ รักษาราชการ ผู้อำนวยการโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล กล่าวว่า โรงเรียนมีนักเรียนกว่า 4,000 คน โรงเรียนจึงได้จัดเด็กเข้าเรียนสลับกัน โดยระดับ ม.ต้น ให้เรียน 3 วัน ระดับ ม.ปลายเรียน 2 วัน เพราะ ม.ปลายสามารถเรียนออนไลน์ได้ โดย จัดให้เรียนห้องละ 25 คน ส่วนหลักสูตรโครงการนานาชาติหรือ IP ให้มาเรียนครบทั้ง 5 วันเนื่องจากนักเรียนโครงการดังกล่าวมีนักเรียนห้องละ 25 คนอยู่แล้ว ทั้งนี้โรงเรียนอุดรพิทยานุกูลมีจำนวนห้องเรียน 111 ห้อง