จากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้มีประกาศ คสช.ที่ 2/2559 ควบคุมมหาวิทยาลัยบูรพา ตามอำนาจมาตรา 44 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) เรื่องการกำหนดรายชื่อสถาบันอุดมศึกษาอื่น ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจาก มีปัญหาการสรรหาอธิการบดี จนนายกสภา ต้องลาออก โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่แทนกรรมการสภามหาวิทยาลัย มาตั้งแต่ปี 2559  นั้น  รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยว่า  ตนได้รับการสรรหาและได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  เมื่อได้คณะกรรมการสรรหาแล้วก็จะมีการประชุมเพื่อกำหนดคุณสมบัติของนายกสภามหาวิทยาลัย 1 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อีก 12 คน

“สิ่งที่กรรมการสรรหาฯ ต้องระวัง คือ ต้องหาผู้ที่ทำประโยชน์ให้มหาวิทยาลัย ไม่ใช่คนที่ต้องการตำแหน่ง หรือ หาผลประโยชน์จากมหาวิทยาลัย เพราะเราไม่อยากกลับไปสู่วังวนเดิม เมื่อกรรมการสรรหาฯกำหนดคุณสมบัติแล้ว ก็ต้องส่งให้คณะ สำนัก พิจารณาเพื่อเสนอชื่อ มาให้กรรมการสรรหาพิจารณาคัดเลือก  เมื่อได้รายชื่อแล้วก็เสนอขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อพิจารณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป  ซึ่งทั้งกระบวนการคาดว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3-4 เดือน  จากนั้นทุกอย่างก็จะกลับคืนสู่ภาวะปกติ และ มหาวิทยาลัยบูรพาก็จะเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งตนเชื่อว่าถ้ามหาวิทยาลัยบูรพารวมกำลังกันแล้ว เราน่าจะไปได้ไกล เพราะมีพื้นฐานดี ทั้งโอกาสที่ดีที่มีโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มาตั้งอยู่ใกล้ๆด้วย”อธิการบดีม.บูรพากล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าได้รับบทเรียนอะไรบ้างจากการถูกควบคุมในครั้งนี้ รศ.ดร.วัชรินทร์ กล่าวว่า  ความจริงแล้วปัญหาที่เกิดขึ้น  คนส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เกิดจากคน 2 กลุ่ม ที่แย่งชิงอำนาจกัน เกิดเป็นปัญหาการเมืองภายใน  เล่นพรรคพวก  เกิดความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญของมหาวิทยาลัย คือ คนในมหาวิทยาลัยจะต้องกล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านผู้บริหารที่ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้ตนเชื่อว่าทุกคนได้บทเรียนแล้ว และกระบวนการสำคัญที่บ่งชี้ถึงการที่มหาวิทยาลัยจะได้ อธิการบดีที่ดี ประการแรก คือ คนในมหาวิทยาลัยต้องกล้าเป็นตัวของตัวเอง และ สอง คนที่มีบทบาทมากคือ กรรมการสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคนเลือกอธิการบดี ซึ่งขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะฉะนั้นกรรมการสรรหาก็ต้องมานั่งคิดว่า จะเอาคนประเภทใดมาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย  สิ่งนี้จะเป็นตัวชี้อนาคตมหาวิทยาลัย เพราะสภามหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนดทิศทาง นโยบาย แนวทางในการทำงาน  และที่สำคัญอนาคตจะเป็นคนสรรหาอธิการบดี ด้วย

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments