เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเป็นประธานในพิธีการอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ) ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา สร้างต้นแบบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในจังหวัดร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และยโสธร โดยมีครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมอบรม ทั้งสิ้น 830 คน แยกเป็นระดับประถมศึกษา 330 คน และระดับมัธยมศึกษา 500 คน ระหว่างวันที่ 12-13 กรกฎาคม 2568 ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)ร้อยเอ็ด ทั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)กับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ว่า การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning: GPAS 5 Steps เป็นการสอนให้เกิดความคิดขั้นสูงที่จะนำไปต่อยอดเรื่องของความฉลาดคิด เป็นการเตรียมคน เพราะครูจะต้องได้รับการพัฒนาให้เด็กมีกระบวนการคิดขั้นสูง เนื่องจากที่ผ่านมาการประเมินภายนอกและการประเมินภายใน และการทดสอบ เราพบว่าสิ่งที่เด็กก็ต้องปรับปรุงคือความคิดขั้นสูง และการเรียนรู้แบบ Active Learning ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ครูนำไปใช้สอนเด็กให้เกิดความคิดขั้นสูง เพราะว่าเป็นการเรียนรู้ร่วมกันเด็กได้ค้นหาความรู้ ได้คิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่จะพัฒนาครูเพื่อตอบโจทย์กระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการพัฒนาครู อย่างไรก็ตาม ที่ดีที่สุดคือต้องมีการบูรณาการหลายรูปแบบ Active Learning ก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่ครูจะต้องเรียนรู้
ดร.รัตติกร ทองเนตร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาศรีสะเกษ ยโสธร กล่าวระหว่างเป็นประธานอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ที่โรงเรียนเบญจลักษ์พิทยา อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ว่า การเรียนการสอนยุคปัจจุบันเราต้องจัดการเรียนการสอนรูปแบบ Active Learning เราจะไม่มีการสอนรูปแบบ Passive Learning อีกแล้ว เพราะต่อไปเราจะให้ลูก ๆ นักเรียนเป็นพระเอกนางเอก ให้เขาได้แสดงบทบาทของเขาอย่างเต็มที่ให้เขาได้คิด วางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนโดยครูเป็นผู้คอยแนะนำกำกับช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเราก็ได้จัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning มานานพอสมควร และวันนี้ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะมาเสริมเติมเต็มจากวิทยากรผู้ทรงคุณผู้มากด้วยความรู้ความสามารถ ซึ่งเป้าหมายหลักในวันนี้ก็จะเป็นโรงเรียนในหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนคุณภาพ ระดับมัธยมศึกษา และประถมศึกษา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ในระดับห้องเรียน ให้ครูมีแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การสร้างและการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นนวัตกร นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ หรือที่เรียกว่า ซอฟพาวเวอร์ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งดิฉันมั่นใจว่าคุณครูที่มาอบรมในครั้งนี้ จะเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาดำเนินไปได้อย่างดีมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เทคนิคที่เราจะได้รับจากวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิ จะสร้างความตระหนักให้เรารู้ความสำคัญของการเรียนการสอนรูปแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ให้ครูผู้สอนมีความรู้เพิ่มเติม มีทักษะอย่างเพียงพอที่จะผลักดันการปฏิรูปการศึกษาในระดับห้องเรียนของเราให้มีประสิทธิภาพ ปรับกระบวนการเรียน เปลี่ยนกระบวนการสอน ให้ผู้เรียนเกิด Active Learning เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ทั้งนี้สพม.ศรีสะเกษ ยโสธร มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตลอดมา ซึ่งจากผลการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานรอบ 6 เดือนแรกได้คะแนนเต็ม 100 และในครั้งต่อไปเราก็มีความคาดหวังว่าเราจะได้คะแนนเต็ม 100 เหมือนเดิม
ผอ.สพม.ศรีสะเกษ ยโสธร กล่าวต่อไปว่า โรงเรียนในสพม.ศรีสะเกษ ยโสธร มีทั้งสิ้น 83 โรงเรียน ได้ปรับกระบวนการเรียนรู้ในการพัฒนาครูในหลายเรื่อง หลายโครงการ หลายกิจกรรม เพราะเราให้ความสำคัญในการพัฒนาครู ถ้าครูได้พัฒนา นำสิ่งที่ได้รับตรงนี้ ไปถ่ายทอดให้กับนักเรียน นักเรียนก็จะได้รับความรู้ที่ถูกทาง และนำความรู้ที่ได้รับให้เกิดประโยชน์สามารถสร้างนวัตกรรม กลายเป็นนวัตกรได้ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ สพม.ศรีสะเกษ ยโสธร ที่ว่า “องค์กรคุณภาพ สร้างคนดี มีความสุข ด้วยนวัตกรรม”ดร.รัตติกร กล่าว
นางวิมลวรรณ เปี่ยมจาด ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา สพม.ศรีสะเกษ ยโสธร กล่าวว่า สพม.ศรีสะเกษ ยโสธร ได้ขับเคลื่อนโครงการ “พัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ด้วยรูปแบบ Active Learning” สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับมัธยมศึกษา โดยมีกลุ่มเป้าหมายแรกคือกลุ่มโรงเรียน “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” โครงการนี้มีเป้าหมายสำคัญ คือ การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ในระดับห้องเรียน ให้ครูเปลี่ยนบทบาทจากผู้ถ่ายทอดความรู้แบบเดิม มาเป็นผู้ออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ที่เน้นการลงมือปฏิบัติจริง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิด วิเคราะห์ และสร้างนวัตกรรมของตนเองได้ผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น โดยเนื้อหาและกิจกรรมการพัฒนาครูในครั้งนี้มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนในยุคดิจิทัล การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning : GPAS 5 Steps และทักษะการคิดขั้นสูงเชิงระบบ การสร้างและพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา กระบวนการชุมชนการเรียนรุ้ทางวิชาชีพ (PLC) ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงพัฒนาครูผู้สอนเท่านั้น แต่ได้มีการพัฒนาให้กับศึกษานิเทศก์เพื่อทำหน้าที่เป็นโค้ช และพี่เลี้ยง ในการชี้แนะ ส่งเสริม สนับสนุน ตลอดจนสร้างเครือข่ายและชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ จะเห็นว่าเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่มุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันของผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยการให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงการสอน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ พัฒนาทักษะคิดขั้นสูง ความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้ร่วมกับผู้อื่นและทำงานเป็นทีมได้ สามารถบูรณาการความรู้สู่การแก้ปัญหาและสร้างนวัตกรรม
ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ อดีตกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการศึกษาในวุฒิสภา บรรยายพิเศษตอนหนึ่ง ว่า ระบบเดิมที่เน้นฟัง อ่าน ท่อง เพื่อสอบ เป็นแค่การกระตุ้นความจำระยะสั้น แม้ว่าการท่องจำจะทำให้สอบผ่าน แต่เด็กก็ลืมภายในไม่กี่สัปดาห์ และสุดท้ายสมองไม่เกิดการพัฒนา ก็เสียเวลา เสียทรัพยากร และที่เจ็บที่สุดคือเราเสีย “เด็กไทย” ไปกับระบบที่ไม่ได้เปลี่ยนพวกเขาให้ดีขึ้น แต่ GPAS 5 Steps คือจุดเปลี่ยนที่ใช้การคิดขั้นสูงเชิงระบบ ฝึกให้เด็กได้คิด วิเคราะห์ สร้างและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เป็นการจำในสมองระยะยาว ไม่ใช่ท่องจำแล้วทำข้อสอบผ่าน และนี่ก็คือแนวทางที่นักการศึกษาทั่วโลกยืนยันมาเป็นร้อยปีว่า การเรียนรู้ที่แท้จริง ต้องมาจากการลงมือทำ และถ้าเรายังไม่เปลี่ยนวันนี้ ความสูญเปล่าทางการศึกษาจะยิ่งแย่กว่าเดิมแน่นอน