เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2563 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ประธานคณะกรรมการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA)เปิดเผยว่า ตามที่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติ ประเมิน PISA ซึ่งการประเมินดังกล่าวริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง  สำหรับประเทศไทยได้เข้าร่วมการประเมิน PISA มาตั้งแต่รอบแรก (PISA 2000) ในปี พ.ศ. 2543 จนถึงรอบการประเมินปัจจุบัน คือ PISA 2021 โดยเน้นประเมินด้านคณิตศาสตร์ และมีการประเมินเพิ่มเติมด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ซึ่งมีประเทศเข้าร่วมการประเมินจำนวน 88 ประเทศ  ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการสำหรับจัดสอบ PISA 2021 ซึ่งในกำหนดการปกติ OECD กำหนดให้จัดสอบ PISA 2021 รอบทดลองใช้เครื่องมือ (Field Trial) ในปี ค.ศ. 2020 จัดสอบรอบการวิจัยหลัก (Main Survey) ในปี ค.ศ. 2021  และประกาศผลการประเมินในปี ค.ศ. 2022

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานสำหรับการประเมิน PISA 2021 ของประเทศต่าง ๆ ซึ่งทำให้ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่สามารถดำเนินการจัดสอบรอบ Field Trial ได้ เนื่องจากมีการประกาศปิดโรงเรียนทั่วประเทศ  ทั้งนี้ ภายหลังจากการประชุมสภาบริหารของโปรแกรม PISA (PISA Governing Board หรือ PGB) ครั้งที่ 49 และการประชุมคณะกรรมการ PISA Executive Group (EXG) ประเทศในกลุ่มสมาชิก OECD จำนวน 37 ประเทศ และประเทศที่เป็นสมาชิกสมทบ (Associate members) จำนวน 2 ประเทศ  ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยในฐานะสมาชิกสมทบ มีข้อสรุปร่วมกันว่าให้มีการเลื่อนการดำเนินงาน PISA 2021 ออกไปเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเครื่องมือและการเก็บข้อมูลได้อย่างมีคุณภาพทัดเทียมกับรอบการประเมินที่ผ่านมา ดังนั้น จึงทำให้จะมีการจัดสอบรอบ Field Trial ในปี ค.ศ. 2021  และสอบรอบ Main Survey ในปี ค.ศ. 2022

“ การสอบPISA ไม่ใช่เป้าหมายหลักในการเตรียมการสอบที่จะมีผลกระทบกับเด็ก แต่เป็นการประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ ประเทศไทยมีปัญหาอย่างยิ่งในการอ่าน ไม่ใช่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่เป็นอ่านแล้วไม่คิดตาม อ่านแล้วเชื่อง่าย ไม่ประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล ดังนั้นเราจึงต้องมีการผลักดันให้ครูมีการอบรม การประเมินเพื่อผลักดันการเรียนรู้ให้เป็นในแนวทางที่เป็นสากล เป็นต้น”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

 

 

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments