นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์จากการระบาดของไวรัสโควิด 19 ในแทบทุกประเทศของโลกมาจนถึงขณะนี้นั้น พลโลกหรือคนทั้งหลายในแต่ละประเทศรวมทั้งบ้านเมืองเราต่างก็ได้รับผลกระทบแง่ลบในวิถีชีวิตสารพัดด้าน นับตั้งแต่ในด้านเศรษฐกิจถดถอยอันเนื่องมาจากการเลิกจ้างงาน กำลังซื้อของผู้บริโภคและผู้ผลิตลดลง ประชากรจำนวนมากขาดแคลนปัจจัยสี่และสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพหลายอย่างต้องหยุดชงัก บางอาชีพต้องเปลี่ยนวิธีดำเนินงานเป็นการทำงานอยู่ที่บ้าน Work at Home และสื่อสารกันด้วยเทคโนโลยี On line หรือ Digital Disruption ซึ่งผู้คนจำนวนไม่น้อยยังไม่ “พร้อม” ที่จะสื่อสารได้ในวิธีนั้น ดังจะเห็นได้จากการที่ประชาชนจำนวนหนึ่งไม่สามารถหรือไม่ทันการที่จะใช้ระบบสื่อสารรับเงินอุดหนุนการดำรงชีพจากรัฐทำให้เกิดความเดือดร้อนไปตาม ๆ กัน

เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้ก็เป็นที่แน่นอนว่ามนุษย์หรือคนซึ่งเป็นทรัพยากรอันมีพลังสมองและพลังกายจะต้องต่อสู้กับสภาววิกฤตจะต้องแก้ไขปรับปรุงหรือพัฒนาให้ใช้ชีวิต “อยู่ได้” โดยการใช้ความสามารถของตนเองและสังคมในการดังกล่าว เพราะวิถีชีวิตของคนเรามีอยู่ใน 2 ภาคส่วน นั่นคือความเป็น “ส่วนตัว” หรือ ครอบครัว อีกส่วนหนึ่งก็คือการเป็นสมาชิกของสังคม

ขอพูดถึงภาคสังคมก่อนว่ามีเรื่องที่เราจำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องอยู่มากมายหลายเรื่อง เช่น เรื่องเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม การเมืองการปกครอง การศึกษา แวดวงการงานการอาชีพ สิ่งแวดล้อม การสาธารณสุขหรือสาธารณูปโภค และที่สำคัญคือการเป็นพลเมืองดีของสังคม เป็นผู้มีคุณธรรมและเคารพกฎหมายของรัฐ

แน่นอนว่าโครงสร้างพื้นฐานของสังคมยังคงอยู่ แต่องค์ประกอบต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตามสภาวะปัจจุบันของสังคมภายใต้วิกฤตโควิด เช่น เรื่องของเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยอย่างหนัก ซึ่งภาครัฐอาจปรับหรือแก้ไข เราก็อาจจะต้องสู้ด้วยการเสียภาษี ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้โดยปรับอาชีพเก่าให้ดีขึ้น หรือสร้างอาชีพใหม่ที่ดีกว่า ซึ่งในปัจจุบันเราจะเห็นว่าเกิดธุรกิจ On line แทบทุกสาขาอาชีพ และมีผู้ประกอบอาชีพหลากหลาย เช่น ดารานักแสดง หรือพิธีกร ก็จะนำเสนอสินค้าประเภทเครื่องสำอางหรือเวชภัณฑ์อาหารเสริม พนักงานบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจที่ต้องหยุดงาน อาจจะเปิดร้าน Delivery ส่งอาหารสำเร็จรูป หรือทำร้านค้าเล็ก ๆ เปลี่ยนชนิดของสินค้า จัดที่นั่งของลูกค้าในร้านตามที่ทางการกำหนด บางอาชีพเปลี่ยนไปอย่างน่าใจหาย เช่น อาชีพนักฟุตบอล หรือนักมวยที่ยังมีอยู่แต่ไม่มีคนดูหรือคนเชียร์ตามที่รัฐวางกฎไว้ (หลังจากที่ “เปิด Lock” ให้บางอาชีพดำเนินการได้)

ที่สำคัญอย่างยิ่งคือเรื่องของการศึกษาหรือ “เครื่องมือ”  ซึ่งจะพัฒนาคนให้มีคุณภาพในการที่จะต่อสู้และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมโควิดได้ในขณะนี้และในวันหน้า ปรัชญาและวัตถุประสงค์หลักของการจัดการศึกษาสูงสุดยังคงเหมือนเดิม แต่แผน นโยบาย ทิศทาง และวิธีการ จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงไป ส่วนหนึ่งของวิธีการในขณะนี้จะเป็นการสอน On line ที่เพิ่มจากเดิม (ซึ่งมีอยู่ตั้งแต่ยังไม่เกิดวิกฤต) การสับเปลี่ยนเวลาเข้าเรียนเลิกเรียน เราจะต้องวางแผนไว้ว่าหลังจากวิกฤตแล้ววิธีการต่าง ๆ จะต้องเป็นอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับสภาวการณ์ใหม่ที่ต้องเผชิญ

สำหรับภาคส่วนตัวหรือ ภาคครอบครัว ก็เช่นเดียวกัน  คือจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมถูกต้องและมีตัวเราเองซึ่งอยู่ในสถานะหัวหน้าหรือสมาชิกในครอบครัวที่จะต้องบริหารจัดการให้ครอบครัว “อยู่ได้” ในสภาวะวิกฤตที่เรามีปัญหาหรือสภาวะโควิด 19 เป็น “โจทย์” ให้แก้นี่เอง เราอาจจะต้องอยู่บ้านหรือทำงานอยู่กับบ้านตามนโยบายสำคัญของรัฐฯ เราก็อาจสร้างระบบการทำงานให้มีสำนักงานที่บ้านซึ่งสามารถจะติดต่อกับหน่วยงานหรือบุคลากรต่าง ๆ โดยสื่อ On line เราต้องปรับลดรายจ่ายที่จำเป็นลง ไม่จำเป็นก็ตัดทิ้ง ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ปลูกพืชผักสวนครัวกินเอง  ที่สำคัญคือปรับคำว่า “บ้าน” ให้มีความหมายในเชิงนามธรรมว่าเป็น “ศูนย์รวมของชีวิตจิตใจที่อบอุ่น” โดยทุกคนรู้หน้าที่และรู้สถานภาพของตนเอง มีภารกิจที่สอดประสานกันช่วยเหลือกันได้ เอาใจใส่ดูแลกันและกัน  ดูแลด้านสุขอนามัยของครอบครัวตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน  เช่นการดูแลวิธีการรับประทานอาหารร่วมกันอย่างปลอดภัยห่างไกลจากโควิด หรือหากจะต้องสั่งอาหารกล่องหรือ On line มารับประทานก็ต้องระมัดระวังความสะอาดปลอดเชื้อ หากจะต้องออกจากบ้านก็ต้องระมัดระวังการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อโควิดโดยหน้ากากอนามัย สเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% และล้างมือบ่อย ๆ ตามที่ทางการเตือนไว้

อย่างไรก็ตามในการบริหารและจัดการประเทศของเราต่อ New Normal นั้น สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอย่างมากคือเรื่องของระบบเศรษฐกิจ  ที่เปลี่ยนไปอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม กล่าวไว้ว่า วิกฤตโควิด 19 จะเป็นตัวเร่งสำคัญให้รัฐถือเป็นแนวในการตัดสินใจ ปรับเปลี่ยนมาสู่ 6 แนวเศรษฐกิจแห่งอนาคต อันได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพในการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพยั่งยืน  เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่สิ้นเปลืองและใช้ทรัพยากรในการลงทุนให้คุ้มค่า เศรษฐกิจสีเขียวหรือการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรและพลังงานอย่างรู้คุณค่าและรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เศรษฐกิจร่วมใช้ประโยชน์คือกระบวนการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้เช่าบริการหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ และเศรษฐกิจของผู้สูงวัย ได้แก่ การจัดการตอบสนองความต้องการของผู้สูงวัย โดยเฉพาะผู้สูงวัยในวัยเริ่มต้น  เช่นบริการท่องเที่ยวหรือบริการทางสุขภาพและการแพทย์ ท้ายสุดคือเศรษฐกิจอัจฉริยะที่ให้ความสำคัญกับ Digital Disruption หรือเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของด้านธุรกิจและผู้บริโภค

เศรษฐกิจแห่งอนาคตเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะช่วยให้คนในทุกสถานภาพและองค์กรทางสังคมหรือรัฐถือว่าเป็น “ตัวตั้ง” ในการปรับกลยุทธและวางแผนสำหรับการดำเนินการบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป

ถึงแม้ว่าจะมีวัคซีนที่มาเอาชนะโควิดได้  แต่ระบบการดำเนินชีวิตแบบใหม่อันเกิดจากโควิดก็ได้ดำเนินมาแล้ว และจะกลายเป็นฐานรากในการดำเนินการต่อไป ไม่ว่าจะไม่พบหรือพบไวรัสตัวใหม่อีกหรือไม่ก็ตาม

Charls Darwin นักธรรมชาติวิทยาผู้มีชื่อเสียงก้องโลกได้กล่าวไว้ว่า “การที่จะอยู่รอดหรือดำรงอยู่ได้ ไม่ใช่การที่เราเป็นผู้ที่แข็งแกร่งหรือฉลาดที่สุด แต่เราจะต้องเป็นผู้ที่สามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด”

นี่คือปรัชญาว่าด้วยเรื่อง New Normal หรือชีวิตวิถีใหม่

ประพีร์พรรณ  ภาณวะวัฒน์

กรรมการบริหารชมรมข้าราชการและครูอาวุโส

ของกระทรวงศึกษาธิการ

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments