เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย รศ.นราพร จันทร์โอชา ภริยา และ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ร่วมกิจกรรม “VALAYA จิตอาสาปณิธานความดี ทำดีเริ่มได้ที่ใจเรา” เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยนายกรัฐมนตรี และ ครม.ได้ร่วมรับฟังบรรยายศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา จาก ผศ.ดร.สุพจน์ ทรายแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ฯ จากนั้นได้เยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ โดยฐานที่ 1 ภูมิพลังแผ่นดิน ซึ่งนายกฯและครม. ได้ร่วมพิธีเปิดกิจกรรม “VALAYA จิตอาสาปณิธานความดี ทำดีเริ่มได้ที่ใจเรา” พร้อมกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ

จากฐานที่ 1 นายกฯพร้อมคณะเดินทางไป ฐานที่ 2 อุทกธารอาหารเพื่อชุมชน ร่วมกิจกรรมมัจฉาร่าเริง ปล่อยปลา และให้อาหารปลา ร่วมกิจกรรม ลูกอมปลาอารมณ์ดี กิจกรรมผักน้อยลอยน้ำ ปลูกพืชน้ำ เพื่อแหล่งอาหารของมนุษย์ ชุมชน กิจกรรมหว่านข้าวในนาสาธิต โดยมีนักศึกษาจิตอาสาเข้าร่วมด้วย จากนั้นไปเยี่ยมชมฐานที่ 3 ความมั่นคงด้านอาหารเกษตร ทฤษฎีใหม่ ร่วมกิจกรรมอากาศดี ปลูกผักเกษตรคนเมือง ชมกิจกรรมปลารับแขก ชมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ สู่”โคก หนอง นา โมเดล” พร้อมชมกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning โดยนายกฯได้ร่วมกิจกรรมกับนักเรียนของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ ชมผลงานนวัตกรรมจากการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งนายกฯให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยมีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ  ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมชม

จากนั้น นายกฯพร้อมคณะเยี่ยมชมฐานที่ 4 วิถีไทยร่วมสมัย เยี่ยมชมวิถีประชารัฐ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ชมผลิตภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัยร่วมพัฒนา นอกจากนี้ยังร่วมกิจกรรม พันธุ์กล้าจากพ่อ แจกพันธุ์พืชผัก น้ำหมักชีวภาพ และน้ำยาล้างจานให้ประชาชน 50 ครัวเรือน ร่วมปลูกต้นราชพฤกษ์ ชมบ้านชีววิถี การปลูกผักปลอดสาร และร่วมกิจกรรมครัวเรือนพอเพียง เรียนรู้การทำผลิตภัณฑ์ครัวเรือน และทำน้ำยาล้างจานร่วมกับนักศึกษา

ผศ.ดร.สุพจน์ กล่าวว่า นายกฯให้ความสนใจ ให้เวลากับเด็กในการชมผลงานนวัตกรรมของเด็ก ๆ มาก  โดยนายกฯได้ ชื่นชม ว่า สิ่งที่เด็กทำอยากให้เด็กได้เรียนรู้ลึก ๆ อย่างที่ทำอยู่นี้ การสอนแบบ Active learning เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ ไม่ใช่สอนแต่ในตำรา ต้องให้เด็กลงมือปฏิบัติเพื่อที่เด็กจะได้ซาบซึ้งและเห็นคุณค่าจริง ๆ รวมถึงนายณัฏฐพล และ คุณหญิงกัลยา ก็ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมอยู่ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยจะเดินหน้าขยายผลให้โรงเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)คัดเลือกได้มาเรียนรู้วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning ของโรงเรียนสาธิตราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ  ให้สามารถพัฒนาสื่อการสอน พัฒนาแผนการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และสามารถนำไปใช้ได้จริง

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments