เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 27 ตุลาคม 2563  เครือข่ายประชาชนพิทักษ์สิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม โดย นายวรา จันทร์มณี ได้ยื่นหนังสือถึงนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิเสรีภาพของนักเรียนทั่วประเทศ โดย ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เป็นผู้แทนรับหนังสือดังกล่าว  สำหรับข้อเรียกร้องมี 5 ประเด็น ได้แก่ 1.ขอให้ทำความเข้าใจกับครูและผู้เกี่ยวข้องเรื่องสิทธิเสรีภาพของนักเรียน และเรื่องแนวคิดอัตวิสัย ที่ครูหรือผู้บริหารโรงเรียนไม่สามารถจำกัด ลิดรอน หรือละเมิดสิทธิ์นักเรียนได้  2.ขอให้กำหนดบทลงโทษครูหรือโรงเรียนที่ฝ่าฝืนกฎกระทรวงศึกษาธิการ จำกัด ลิดรอน ละเมิดสิทธิ์นักเรียน เช่น เรื่องทรงผม 3.ขอให้ทำความเข้าใจกับครูและผู้บริหารโรงเรียนเรื่องแนวคิดอัตวิสัย ขอให้เลิกบังคับนักเรียนทำกิจกรรมเชิงอัตวิสัย  เช่น พิธีถวายบังคม รัชกาลที่ 5 ในวันปิยมหาราช   หรือ การให้นักเรียนเขียนข้อความ หรือ วาดภาพชื่นชมผู้มีอำนาจ เป็นต้น  4. ขอให้ยกเลิกการให้หรือตัดคะแนนนักเรียน ในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ เช่น เรื่องทรงผม หรือ การเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน และ 5.ขอให้เปิดช่องทางในการร้องเรียนพฤติกรรมการจำกัด ลิดรอน ละเมิดสิทธิ หรือบังคับนักเรียนทำกิจกรรมเชิงอัตวิสัย โดยเปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้ เช่น ทางเฟซบุ๊ก หรือ เว็บเพจ เป็นต้น

ดร.อัมพร กล่าวว่า การเรียกร้องดังกล่าวถือเป็นข้อเสนอที่ดี ไม่มีประเด็นไหนที่เป็นข้อเสนอที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่กลับเป็นการช่วยชี้แนะแนวทางในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนของชาติ อย่างประเด็นการละเมิดสิทธิ์ พิทักษ์สิทธิ์ หรือ คุ้มครองสิทธิ์ ของบุคคลในรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดไว้ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ใครจะไปรุกล้ำสิทธิ์นั้นไม่ได้อยู่แล้ว  ส่วนประเด็นระเบียบหรือข้อบังคับของกระทรวงศึกษาธิการที่กำหนดให้ครูพึงกระทำอะไรกับนักเรียน หรือ นักเรียนควรมีบทบาทอย่างไรต่อครู ขณะเดียวกันพ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา ก็ได้กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับ รวมถึงจรรยาบรรณวิชาชีพครูอยู่แล้ว คิดว่าข้อเสนอต่าง ๆ ที่เสนอขึ้นมาก็น่าจะเป็นการเน้นย้ำให้กระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมให้คุณครูเกิดความตระหนัก ซึ่งตนก็เชื่อว่าในภาพรวมครูทุกคนมีความรักความห่วงใยและความปรารถนาดีต่อนักเรียนอยู่แล้ว

“ยิ่งมีองค์กรต่าง ๆ มาช่วยชี้แนะ หรือกำชับ กระทรวงศึกษาธิการจะไปตรวจสอบและกำหนดแนวทางในการส่งเสริม สนับสนุน และดูแล เรื่องสิทธิของเด็กและนักเรียนให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า ตนยินดีที่จะรับข้อเสนอแนะเหล่านี้ เพื่อไปพิจารณาว่าจะต้องปรับแก้ส่วนใด หรือ ส่งเสริมสนับสนุน หรือปรับกิจกรรมใดที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีศักดิ์ศรี และมีความภาคภูมิใจในการดำรงชีวิตในความเป็นไทย

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments