เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2563 ดร.อัมพร  พินะสา  เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึง กรณีนักเรียนกลุ่มหนึ่งมีการเชิญชวนให้แต่งไปรเวท ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่ดูแลการศึกษาทั่วประเทศ ขอเรียนว่าการทำงานเราต้องยึดปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบและกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งในกรณีดังกล่าวมีพ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 เข้าใจว่าเจตนารมณ์ของการมีกฎหมายและระเบียบดังกล่าว ไม่ได้ต้องการลิดรอนสิทธิของนักเรียน แต่เพื่อต้องการให้ความปลอดภัยกับนักเรียน ถ้านักเรียนไม่ใส่ชุดนักเรียน  ผู้ใหญ่จะดูแลเด็ก หรือแม้แต่ถ้าใส่ชุดนักเรียนขึ้นรถเมล์ก็จะได้ลดครึ่งราคา ผู้ใหญ่ลุกให้เด็กนั่ง หรือแม้แต่นักเรียนเอง หากเห็นผู้สูงอายุขึ้นรถเมล์มา ก็จะได้ลุกให้นั่ง เป็นการแสดงคุณธรรมที่มีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

“ เรื่องการแต่งกายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งในการสร้างระเบียบวินัย และประการสุดท้าย การมีชุดนักเรียนจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อีกทางหนึ่ง เพราะการแต่งชุดนักเรียนเหมือนกันทั้งหมด จะไม่เกิดปัญหา เพราะถ้าเพื่อนบางคนมีฐานะ หากไม่กำหนดระเบียบเอาไว้ อาจจะไปใส่ไปรเวทมียี่ห้อ คนที่ไม่มีก็พยายามจะหาให้มีเหมือนเพื่อน เป็นความเหลื่อมล้ำอีกแนวทางหนึ่ง ขณะที่น้องๆ เรียกร้องใส่ไปรเวท แต่สังคมทั่วไป อย่างบริษัทเอกชน พนักงานโรงงาน หรือกระทั่งกลุ่มคนที่กิจกรรมเพื่อสังคม กลับเรียกร้องหาชุดยูนิฟอร์ม เพื่อต้องการสื่อว่าความเป็นทีม ให้เป็นอัตลักษณ์ การแต่งชุดนักเรียนเป็นกลไกในการฝึกความมีระเบียบวินัย ทุกประเทศ หรือแม้แต่ระดับครอบครัว ต้องมีกติกาการอยู่ร่วมกัน ฉะนั้นโรงเรียนก็ต้องมีกติกากลาง ให้คนรู้ว่า ทำอะไรได้ หรือไม่ได้ เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันได้”ดร.อัมพร กล่าวและว่า การที่น้องๆ กลุ่มหนึ่งมาเรียกร้องให้ใส่ชุดไปรเวทมาโรงเรียนถือเป็นสิทธิ  ส่วนตัวมองว่า การคิดต่างไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่วิธีการต้องถูกต้อง เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นจากระเบียบและกฎหมาย หากอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องนำสู่กระบวนการแก้ไข ซึ่งต้องเป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่ ตรงนี้คือกระบวนการที่ถูกต้อง แต่ครั้งนี้เป็นการเชิญชวนในระหว่างที่ระเบียบยังไม่ได้รับการแก้ไข เท่ากับเชิญชวนให้น้องๆ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกติกา ดังนั้นเรื่องนี้ก็ต้องดูที่เจตนาว่าน้อง ๆ มีความตั้งใจทำผิดระเบียบหรือไม่ หรือว่ามีความจำเป็น ซึ่งต้องดูที่เหตุผล เพราะปัจจุบันนี้ก็เปิดกว้าง ไม่ได้ให้แต่งชุดนักเรียนทุกวัน มีบางโรงเรียนกำหนดให้แต่งชุดประจำถิ่นหรือ ชุดกีฬา ได้ อย่างไรก็ตามไม่ว่าเด็กจะแต่งกายอย่างไรก็มีสิทธิจะเข้าเรียนตามปกติ หากเด็กทำผิดระเบียบก็ต้องว่าไปตามกฏระเบียบ ต้องชี้ให้เห็นว่า เขาทำผิดระเบียบอย่างไร และคงไม่เป็นประเด็นว่า ครูหรือโรงเรียนไปหมายหัวเด็ก คงเป็นการปฏิบัติต่อนักเรียนด้วยความเอื้ออาทร ส่วนครูรายใดไปลงโทษนักเรียนเกินกว่า เหตุ ไม่เป็นไปตามระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการลงโทษนักเรียน ก็ถือว่ามีความผิด เพราะไม่ว่าจะเป็นครู หรือนักเรียนก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบเช่นเดียวกัน

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments