เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563  ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ฐานะประธานคณะทำงานด้านกฎระเบียบที่ล้าหลังของสถานศึกษาที่กระทบต่อนักเรียน นักศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมการพิจารณาข้อเรียกร้องของนักเรียน นักศึกษา ที่มี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นประธาน ได้ตั้งคณะทำงานด้านกฎระเบียบฯ ขึ้นมาเพื่อดำเนินการตามกฎหมายที่คณะกรรมการพิจารณาข้อเรียกร้องฯ มอบหมาย ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูล 3 ชุด คือ 1.ข้อมูลที่นักเรียนเสนอ และข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)รวบรวมขึ้น 2.ข้อเสนอจากคณะทำงานด้านกฎระเบียบฯ และ3.การรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียนนักศึกษาว่าต้องการแก้ไขระเบียบอะไรเพิ่มเติมบ้าง ซึ่งที่ประชุมจะทำแบบสอบถามส่งให้โรงเรียนสำรวจความเห็นนักเรียน ซึ่งประเด็นส่วนใหญ่ที่นักเรียนสะท้อน และสพฐ.รวบรวมมามีประเด็นใหญ่ ๆ 3 ประเด็น คือ เรื่องทรงผม เครื่องแบบนักเรียน และการลงโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุ  โดยคณะกรรมการพิจารณาข้อเรียกร้องฯ ได้ดำเนินการแก้ไขเรื่องทรงผมและเครื่องแบบนักเรียนแล้ว ดังนั้นคณะทำงานด้านกฎหมายฯ จะพิจารณาแก้ปัญหาเรื่องการลงโทษนักเรียน

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียน พ.ศ. 2548  ซึ่งที่ประชุมบางส่วนมองว่า ตัวระเบียบไม่มีความรุนแรง เพราะไม่ได้ระบุว่าต้องลงโทษนักเรียนด้วยการตี แต่ถ้าพบนักเรียนที่ประพฤติฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโรงเรียน จะถูกพิจารณาลงโทษ ดังนี้ ว่ากล่าวตักเตือน, ทำทัณฑ์บน, ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่การสื่อสารระเบียบนี้ไปยังโรงเรียนอาจจะไม่ดีพอ โรงเรียนไม่มีความเข้าใจและอาจจะไม่เข้าใจระเบียบนี้ จึงพบปัญหาครูตีเด็กอยู่ ที่ประชุมจึงมีมติ ให้ปรับระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการลงโทษนักเรียน ให้เป็นปัจจุบันและทันสมัย

“หลังจากนี้ทีมกฎหมายจะไปดำเนินการ เพื่อเสนอคณะกรรมการพิจารณาข้อเรียกร้องฯ แต่จะไม่ปรับเปลี่ยนข้อกำหนดบทลงโทษ เพียงแต่แก้คำนิยามให้ทันสมัยมากขึ้น ให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน และเพื่อทำให้การดำเนินการต่าง ๆ เกิดการยอมรับ โรงเรียนสามารถปฏิบัติได้จริง และสังคมยอมรับ โดยที่ประชุมเสนอว่าควรให้โรงเรียนออกระเบียบว่าด้วยการลงโทษนักเรียน ทั้งนี้ต้องรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษา และนักเรียนทุกคน เครือข่ายผู้ปกครอง ศิษย์เก่าและชุมชนด้วย เพื่อให้โรงเรียนสร้างกฎกติกาของตนและครูจะสามารถปฏิบัติตามระเบียบนี้ได้”ดร.อำนาจกล่าวและว่า นอกจากนี้ที่ประชุมจะนำกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2562 มาพิจารณาเพื่อให้ควบคู่และให้เกิดความสอดคล้องกับการแก้ไขระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการลงโทษนักเรียน อย่างไรก็ตามการพิจารณาแก้ไขเรื่องต่างๆ จะต้องสอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 รวมถึงหลักสิทธิมนุษยชน และสิทธิเด็กด้วย

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments