เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ที่ศูนย์ราชการจังหวัดพังงา ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) พร้อมด้วย นายสมรักษ์ ถวาย ศึกษาธิการจังหวัดพังงา และคณะนักวิชาการ สกศ. เข้าพบ นายบุญเติม เรณุมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เพื่อหารือแนวทางพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดย สกศ.พร้อมเป็นองค์กรกลางทำหน้าที่เชื่อมโยงและประสานกับทางจังหวัดพังงา ในการร่วมมือและส่งเสริมสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ รวมถึงผลักดันให้เกิดสมัชชาหรือสภาการศึกษาจังหวัดพังงา เพื่อเป็นกลไกช่วยพัฒนาการศึกษาเชิงพื้นที่ที่สามารถตอบสนองวิถีชีวิตที่แท้จริงของชาวพังงาได้

โดย ดร.อุษณีย์ เปิดเผยภายว่า สกศ.ลงพื้นที่ ที่ รร.วัดโคกสวย ต.โคกเจริญ รร.บ้านบ่อแสน ต.บ่อแสน อ.ทับปุด และ รร.บ้านตากแดด อ.เมือง จ.พังงา ระหว่างวันที่ 24 – 25 ธ.ค. เพื่อเก็บข้อมูล ทำความเข้าใจและประสานความร่วมมือกับเครือข่ายโรงเรียนและผู้นำท้องถิ่นในการประสานและส่งเสริมความร่วมมือการจัดการเรียนรู้เชิงพื้นที่ที่เหมาะสมกับความต้องการพัฒนาการศึกษาของชุมชน โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องที่ สกศ.กำหนดขึ้นเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม 4 พื้นที่ศึกษา ประกอบด้วย ภาคใต้ที่ จ.พังงา ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ และภาคเหนือ จ.ลำปาง เพื่อศึกษารูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งแนวคิดและความต้องการของชุมชน จากนั้นจะมีการถอดบทเรียนการมีส่วนร่วมพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ของแต่ละพื้นที่นำร่อง เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้เกิดสมัชชาหรือสภาการศึกษาจังหวัด ซึ่งจะสะท้อนข้อมูลการศึกษาที่แท้จริง เพื่อการจัดทำนโยบายการศึกษาที่สามารถปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมชัดเจนได้

“สภาการศึกษา เร่งสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาอีกรูปแบบ ที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน และภาคประชาสังคม ในการออกแบบนโยบายการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล และสามารถรองรับการจัดการศึกษาที่มีความหลากหลาย ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ตลอดจนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการได้”ดร.อุษณีย์กล่าว

ด้าน นายบุญเติม เรณุมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวว่า จังหวัดพังงา มีความยินดีในการร่วมมือ กับ สกศ. เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาที่มีความเหมาะสมกับท้องถิ่น ขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาในทุกระดับ เป็นการส่งเสริมการกระจายอำนาจจัดการศึกษาสู่ท้องถิ่น สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนที่สอดรับกับวิถีชีวิตคนในท้องถิ่น ส่งเสริมการพัฒนาระบบการศึกษาครอบคลุมทุกระบบทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ถือเป็นแนวคิดที่ดีซึ่งชาวพังงายินดีส่งเสริมสนับสนุน และร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกัน รวมถึงการจัดตั้งสมัชชา/สภาการศึกษาจังหวัดพังงาด้วย

ส่วน นายจุมพล ทองตัน หรือ โกไข่ ประธานอนุกรรมการพัฒนาการศึกษา คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดพังงา  กล่าวว่า จังหวัดพังงาได้รับการจัดอันดับว่าเป็นเมืองที่มีความสุขอันดับ 1 ของภาคใต้  และเป็นอันดับ 2 ของประเทศ  เป็นเมืองเงียบสงบแต่ไม่เงียบเหงา เครือข่ายผู้นำชุมชนและผู้นำท้องถิ่นพร้อมร่วมกับ สกศ.ในการขับเคลื่อนการจัดตั้งสมัชชา/สภาการศึกษาจังหวัดพังงา และ ร่วมออกแบบระบบการศึกษาสร้างสรรค์ให้เป็นรูปแบบหรือโมเดลความสุขแห่งการเรียนรู้ (Happiness Learning) สร้างความสุขแก่ผู้เรียน ส่งเสริมให้ได้เรียนวิชาที่ชอบตามความถนัดในรูปแบบโรงเรียนแห่งความสุข (Happy School) โดยเชื่อมั่นว่าสุนทรียศาสตร์ที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนด้านดนตรี นาฏศิลป์ และศิลปะจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ ส่งผลต่อสัมฤทธิ์ผลทางการเรียนที่ดียิ่งขึ้นเป็นคนดี คนเก่ง ที่มีความอ่อนโยนและใช้ชีวิตอย่างงดงาม ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนพลิกโฉมการศึกษาจังหวัดพังงาต่อไปได้

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments