จากการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ครั้งที่ 6/2561 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาปรับปรุงแผนปฏิบัติการปีงบประมาณ 2561 และ 2562 ภายหลังคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติปรับลดงบฯปี 2561 ตามข้อเสนอของสำนักงบประมาณจากวงเงินที่ขอไป 636 ล้านบาท เป็น 499.187 ล้านบาท และปีงบฯ 2562 จากยอดเดิมซึ่งกสศ.เสนอขอจากการแปรญัตติ 5,949.75 ล้านบาท แต่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)อนุมัติฯจำนวน 2,537.365 ล้านบาท ลดลง 57%จากที่ กสศ.เสนอขอ คณะกรรมการบริหาร กสศ.จึงได้พิจารณาปรับแผนการจัดสรรงบฯให้เกิดความคุ้มค่าที่สุดภายใต้งบฯที่ได้รับ

ดร.ประสาร กล่าวต่อไปว่า แม้จะต้องลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายลงทุกกลุ่ม แต่ในภาพรวมปีงบฯ2562 จะมีเด็กและเยาวชนไม่น้อยกว่า 1,485,390 คน ได้รับการติดตาม ช่วยเหลือ จากปัญหาการขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดย กสศ.จะให้น้ำหนักที่การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการจัดการเชิงระบบเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวที่ยั่งยืน การเตรียมการระดับนโยบาย และการส่งเสริมสนับสนุนหน่วยบริการต่างๆ เพื่อการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งยุทธศาสตร์สำคัญ คือ การให้ทุนโอกาสทางการศึกษาที่สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ โดยเป็นทุนสร้างโอกาสการศึกษาแบบให้เปล่าในกลุ่มเป้าหมายระดับอาชีวศึกษา นักเรียน ม.ปลายในพื้นที่ห่างไกลได้เรียนครู ทุนโอกาสทางการศึกษาระดับสูง ทุนเหล่านี้มุ่งเน้นกลุ่มนักเรียนที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดโอกาสในการศึกษาต่อ ซึ่ง กสศ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคัดกรองนักเรียนยากจนในปีการศึกษา 1/2561 ได้จำนวน 569,000 – 621,000 คนแล้ว คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้ภายในต้นเดือนธันวาคมนี้

แม้จะได้รับงบฯน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็ยังเพียงพอให้เราเริ่มต้นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กสศ.จะดำเนินการหาช่องทางระดมทรัพยากรอื่น ๆ ตามที่กฎหมายเปิดโอกาสไว้ เช่น การระดมเงินบริจาคจากประชาชนและนิติบุคคล ซึ่งขณะนี้ยังรอกรมสรรพากรเสนอร่าง พ...เพื่อให้ กสศ.สามารถให้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่าแก่ผู้บริจาคได้อยู่”ดร.ประสาร กล่าว

ประธาน กสศ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบระเบียบสำคัญ ๆ เช่น ระเบียบว่าด้วยการบริหารงานบุคลากร ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญในการจัดสรรเงิน ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบข้อมูลและการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเกณฑ์การขาดแคลนทุนทรัพย์และระดับความรุนแรงให้พิจารณาจากข้อมูลรายได้และข้อมูลสถานะครัวเรือนโดยให้นำค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่มาประกอบการพิจารณาด้วย นอกจากนี้ยังกำหนดรายการช่วยเหลือที่ กสศ.สามารถสนับสนุนได้ เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ค่าใช้จ่ายในการเตรียมความพร้อมของเด็กเพื่อสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ค่าเลี้ยงดูเด็กเล็กสำหรับครอบครัว ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเรียน ค่าอาหาร ค่าครองชีพระหว่างเรียน ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ทุนเพื่อฝึกอบรม ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมทักษะอาชีพสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส

ระเบียบทั้งหมดนี้ คณะกรรมการบริหาร กสศ.ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ รัดกุม เพราะจะมีผลสำคัญต่อการวางรากฐานการทำงานของ กสศ. ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระบบการทำงานของกองทุนที่โปร่งใสมีธรรมาภิบาล เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดยก้าวสำคัญในช่วงเดือนตุลาคมนี้ กสศ. จะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดให้มีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลกลุ่มเป้าหมายทั้ง 620,000 คนด้วยระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE เพื่อพิสูจน์ให้สังคมมั่นใจว่าการสนับสนุนรอบแรกของ กสศ.ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมนั้นจะสามารถช่วยเหลือนักเรียนที่ยากจนที่สุดเพิ่มเติมจากที่หน่วยงานอื่นดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้ไม่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา” ดร.ประสาร กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments